ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ยืนยัน คสช. และแม่น้ำ 5 สายไม่เคยแทรกการทำงานขององค์กรอิสระ หลังสมาชิก สนช. เสนอแก้กฎหมายลูก กกต. ยกเลิกผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ กกต. ชุดเก่าเพิ่งคัดเลือก 616 คน ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ชี้การกระทำดังกล่าวถือเป็นการแทรกแซง ขัดเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ประยุทธ์

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจง หลังสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอแก้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ ภายใต้ กกต. ชุดใหม่ จนทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า แม่น้ำ 5 สาย ของ คสช. แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระหรือไม่

โดยนายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การแก้กฏหมายเพื่อล้มล้างเหมือนที่หลายฝ่ายกังวล แต่เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ กกต. ชุดใหม่และชุดเก่า ทำงานร่วมกันในการคัดสรร ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เหมาะสม พร้อมยืนยันไม่เคยเข้าไปแทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระ เพราะวันนี้จะต้องพิจารณาร่วมกัน และขอทุกฝ่ายให้เกียรติ กกต. ใหม่ในการทำหน้าที่ต่อไป กกต. ชุดเก่าก็ต้องส่งมอบงานให้ กกต. ชุดใหม่ ดังนั้นจึงต้องให้ทั้ง 2 คณะ มีการพูดคุยและหารือกันเอง

มีชัย ฤชุพันธุ์.jpg

มีชัย แย้ง สนช. ไม่ควรให้คนนอกแทรกแซงการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง

ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า การที่ สนช. ต้องการจะแก้กฎหมายกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง จำนวน 7 คน มาจากตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน, หัวหน้าผู้พิพากษาจังหวัด, หัวหน้าสำนักงานอัยการจังหวัด, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด, ประธานหอการค้าจังหวัด, และประธานอุตสาหกรรมจังหวัด เหล่านี้ส่วนตัวมองว่า ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวเพราะผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการทำงานของ กกต. จึงเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะต้องดำเนินการคัดเลือก ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายลูกที่ กรธ. ร่าง

ส่วนจะเป็นการแทรกแซงอำนาจของ กกต.หรือไม่นั้น ตนไม่อยากมองแบบนั้น แต่อาจจะเป็นความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อีกทั้งการที่กำหนดให้บุคคลภายนอกองค์กรเข้ามาดำเนินการคัดเลือกนั้นคงเป็นไปได้ยาก เสมือนกับการที่ สนช. จะตั้งกรรมาธิการใน สนช. แต่กลับให้ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครมาช่วยคัดเลือกนั้นคงจะผิดฝาผิดตัวเช่นกัน 

นายมีชัยกล่าวถึงกระเเสข่าว บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่เป็นที่พอใจของ สนช.รวมถึงโยงกรณีดังกล่าวว่าเป็นเรื่องการเมืองนั้นส่วนตัวอยากทราบว่า สนช.คนใดไม่พอใจ และการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าว ก็นานาจิตตัง เมื่อสนช.ตั้งคณะกรรมการ หรือ ตั้งคณะกรรมาธิการ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนภายนอกจะพึงพอใจ แต่ก็เป็นอำนาจของ สนช. 

ดังนั้น หากมองตามธรรมเนียมแล้วตนเห็นว่า ทั้ง กกต. ชุดเก่า และชุดใหม่จะต้องร่วมกันคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ส่วนที่ได้มีการแต่งตั้งขึ้นมาแล้วก็เป็นอำนาจของ กกต. ชุดเก่าที่เห็นว่าหากไม่ดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จก็อาจจะไม่ทันต่อการเลือกตั้งจึงได้มีการเปิดรับสมัคร แต่อย่างไรก็ตาม กกต. ชุดใหม่ก็มีสิทธิ์ที่จะเข้ามาร่วมในการแต่งตั้งด้วย 

สนช.JPG

ก่อนหน้านี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 36 คน ร่วมลงชื่อจะเสนอแก้ไข ร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อที่จะคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งใหม่ อาทิ นายมหรรณพ เดชวิทักษ์, นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนายสมชาย แสวงการ

โดยนายสมชาย มองว่า การเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐบาลจะมีในช่วงต้นปี 2562 ยังเหลือเวลาอีกนาน การรีบเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้อาจทำให้นักการเมืองเข้าไปติดต่อได้ ขณะที่ นายมหรรณพ ห่วงว่า จะเกิดความไม่เป็นเอกภาพในการทำงาน เพราะ กกต.ชุดเก่าเป็นผู้คัดเลือก แต่ กกต.ชุดใหม่เป็นผู้เข้ามาปฏิบัติงาน

อย่างไรก็ตาม ผู้ตรวจการเลือกตั้งทั้งหมด 616 คน จาก 77 จังหวัด ที่คัดเลือกโดย กกต. ชุดเก่าเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ส่วนใหญ่เป็นตำรวจ-ข้าราชการเกษียณอายุ