สถานการณ์การส่งออกของประเทศไทยในปัจจุบันอยู่ในภาวะถดถอยอย่างเห็นได้ชัด ตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา หดตัวติดลบร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยคิดเป็นเม็ดเงินมูลค่า 18,555.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 5.8 แสนล้านบาท ส่งผลให้เฉพาะเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประเทศไทยขาดดุลการค้าถึง 1,457.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือติดลบประมาณ 54,396.5 ล้านบาท
เมื่อมองในภาพรวมไตรมาส 1/2562 การส่งออกของไทยติดลบอยู่ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่าส่งออกราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท ขณะที่มียอดการนำเข้าประมาณ 7.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท ส่งผลให้ประเทศไทยยังเกินดุลการค้าที่ราว 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 17,000 ล้านบาท
นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญศึกหนักในการประคองไม่ให้ตัวเลขการส่งออกในปี 2562 ออกมาเป็นลบ โดยความหวังที่กระทรวงพาณิชย์เคยตั้งไว้ที่ร้อยละ 8 หรือที่ สรท. เคยตั้งไว้ที่ร้อยละ 5 ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นร้อยละ 3 ในภายหลัง มีความเป็นไปได้น้อย
ปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกทำพิษกับการส่งออกไทยอย่างมาก และการหวังตัวเลขการส่งออกประจำปี 2562 ไว้ที่ร้อยละ 1 ก็แทบจะเป็นเรื่องยากมากแล้ว
หากไทยตั้งเป้าที่จะประคองการส่งออกไว้ที่ร้อยละ 1 ทั้งปี หมายความว่า 8 เดือนที่เหลือนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป ไทยต้องส่งออกเป็นมูลค่า 22,124 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือประมาณ 6.9 แสนล้านบาท โดยตัวเลขการส่งออกในช่วง 8 เดือนของปี 2561 อยู่ที่เพียง 21,302 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือประมาณ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งหมายความว่าไทยจำเป็นต้องส่งออกให้ได้เพิ่มถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หรือประมาณ 28,000 ล้านบาท
หากมูลค่าการส่งออกต่อเดือนของไทยต่ำกว่า 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ตัวเลขส่งออกของไทยในปีนี้จะเป็นศูนย์
"ตามความรู้สึกที่มันอยู่ข้างในนะ โอกาสที่จะเป็น 0 หรือติดลบ น่าจะมีมากกว่า" น.ส.กัณญภัค กล่าว
กลุ่มสินค้าที่เติบโตและตกต่ำ
ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ยังขยายตัวได้ที่อัตราร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่แทบไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยสงครามการค้าและภาวะเศรษฐกิจโลกเลย คือ สินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ผัก ผลไม้สด อาหารทะแลแช่แข็ง และไก่สดแช่แข็ง ที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่องที่ร้อยละ 3 - 5 อย่างไรก็ตามสินค้าในกลุ่มเกษตร เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และน้ำตาลทรายมีแนวโน้มลดลง
กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเป็นอีกหนึ่งส่วนที่มีความเสี่ยง โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมายอดการส่งออกปรับตัวต่ำลงถึงร้อยละ 4.2 มื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยกลุ่มสินค้าประเภท รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ มีการปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แนวทางการประคองการส่งออกให้ไม่เผชิญกับวิกฤตที่ทาง สรท. เสนอคือการเปิดตลาดการค้าใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกให้กับผู้ประกอบการ พร้อมสร้างเสถียรภาพด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผันผวนข��งค่าเงิน และปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน