ไม่พบผลการค้นหา
นิด้าโพล เผย ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อหลังเลือกตั้ง 2562 เศรษฐกิจจะดีขึ้น วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนที่อยากให้แก้มากสุดคือ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ปากท้องคนไทยและเศรษฐกิจประเทศหลังการเลือกตั้ง 2562” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 – 23 ก.พ. 2562 

จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.84 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 27.13 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเหมือนเดิม และร้อยละ 7.03 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยดีขึ้น

ด้านความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทย หลังการเลือกตั้ง 2562 และได้รัฐบาลใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.64 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 32.27 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม และร้อยละ 4.09 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง

สำหรับพรรคการเมืองที่จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องให้ประชาชนได้ (10 อันดับแรก) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 45.73 ระบุว่า ไม่มีพรรคใดเลย รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 21.55 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย อันดับ 3 ร้อยละ 10.12 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ อันดับ 4 ร้อยละ 8.28 ระบุว่าเป็น พรรคอนาคตใหม่ อันดับ 5 ร้อยละ 7.43 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 6 ร้อยละ 1.59 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อชาติ อันดับ 7 ร้อยละ 1.25 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย อันดับ 8 ร้อยละ 1.10 ระบุว่าเป็น พรรคภูมิใจไทย อันดับ 9 ร้อยละ 0.95 ไม่ระบุ และอันดับ 10 ร้อยละ 0.70 ระบุว่าเป็น พรรคไทยรักษาชาติ

เมื่อถามถึง ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชนในปัจจุบัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.55 ระบุว่า มีปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ขณะที่ ร้อยละ 40.45 ระบุว่า ไม่มีปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง โดยในจำนวนของผู้ที่ระบุว่า มีปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ได้ให้สาเหตุที่ทำให้มีปัญหา พบว่า ร้อยละ 58.12 ระบุว่า มีรายได้ไม่แน่นอน รองลงมา ร้อยละ 36.52 ระบุว่า เงินเดือน/ค่าจ้างน้อย ร้อยละ 10.80 ระบุว่า ครอบครัวใหญ่ ต้องเลี้ยงดูหลายคน ร้อยละ 4.86 ระบุว่า ตกงาน/ไม่มีงานทำ/หางานทำยาก ร้อยละ 2.85 ระบุว่า ใช้เงินฟุ่มเฟือย เกินตัว ร้อยละ 2.51 ระบุว่าไม่ได้ทำงาน เช่น มีปัญหาสุขภาพ ลาออกจากงาน เป็นต้น ร้อยละ 0.08 ระบุว่า ใช้เงินไปกับอบายมุขต่าง ๆ เช่น สุรา หวย การพนัน เป็นต้น และร้อยละ 11.14 ระบุว่า อื่น ๆ ได้แก่ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้สินค้าราคาแพงขึ้น ขณะที่บางส่วนระบุว่า เกิดจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.23 ระบุว่า ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รองลงมา ร้อยละ 26.72 ระบุว่า ทำอาชีพเสริมที่ถูกกฎหมาย ร้อยละ 16.16 ระบุว่า ออมเงิน ร้อยละ 10.22 ระบุว่า ไม่ได้มีแผนจะทำอะไรในตอนนี้ ร้อยละ 8.63 ระบุว่า กู้ยืมเงินจากคนใกล้ชิด/สถาบันการเงิน/นอกระบบ ร้อยละ 4.27 ระบุว่า มองหางานใหม่ที่ดีกว่าและร้อยละ 3.27 ระบุว่า นำทรัพย์สินไปจำนอง/จำนำ/ขาย