ไม่พบผลการค้นหา
'ชวลิต' ชี้ ครม.ทิ้งทวน อนุมัติงบกว่าหมื่นล้านเติมเงิน "บัตรคนจน ช่วยคนรวย" ย้ำไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในตำบล-หมู่บ้าน แต่กลับกระจุกตัวอยู่กับนายทุนไม่กี่ราย แนะควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแก้ไขปัญหาประชาชนอย่างแท้จริง

นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองให้เป็น ส.ส. นครพนม มีประเด็นสำคัญที่จะขอให้ความเห็นทางการเมืองเป็นงานแรก กรณี คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการพยุงเศรษฐกิจกลางปี 2562 ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ ได้จริงหรือไม่ เงินกระจายในตำบล หมู่บ้าน หรือเงินไปกระจุกตัวอยู่กับนายทุนไม่กี่ราย และเป็นการทิ้งทวนเพื่อเอื้อนายทุน หรือไม่ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติอนุมัติงบประมาณ จำนวน 13,200 ล้านบาท เพื่อเติมเงินให้ผู้ถือบัตร จำนวน 14.5 ล้านคน โดยเติมเงินในบัตรคนจน จำนวน 500 บาท/คน/เดือน ในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2562

ทั้งนี้ ในการเติมเงินตามจำนวนดังกล่าว มีเงื่อนไขให้รูดบัตรซื้อของจากร้านธงฟ้าประชารัฐเท่านั้น แต่ไม่สามารถกดเงินสดได้ เสมือนเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนไม่กี่รายที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น หรือไม่ แทนทึ่จะให้คนจนสามารถกดเงินสดไปจับจ่ายใช้สอย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้ขยายตัวและเติบโต อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในวงกว้าง กลับกลายเป็นมาตรการที่ช่วยคนที่รวยอยู่แล้ว ให้รวยยิ่งขึ้น หรือไม่ ซึ่งจะส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนห่างกันมากยิ่งขึ้น ด้วยมาตรการของรัฐบาลที่กระทำซ้ำแม้จะถูกติติง

จะเห็นได้ว่า ในช่วงรณรงค์หาเสียงที่ผ่านมา แต่ละพรรคการเมืองจะได้มีการติติงว่ามาตรการดังกล่าวช่วยคนรวย ช่วยนายทุนของพรรค หรือไม่ ก็ยังไม่ยอมรับฟัง กลับออกมาตรการซ้ำ ๆ เสมือนกับจะเป็นการทิ้งทวนเพื่อให้นายทุนถอนทุน หรือไม่ 

ดังนั้น การที่มีการเปรียบเปรยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยบัตรคนจนนี้ว่า "บัตรคนจน แต่ช่วยคนรวยให้รวยขึ้น" จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรับฟัง เพราะงบประมาณทึ่ใช้เป็นภาษีของประชาชน

นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็น ส.ส.ระบบเขต ได้รับข้อสังเกตจากประชาชนในพื้นที่วิพากษ์วิจารณ์กระบวนการบริหารจัดการบัตรคนจนที่เอื้อต่อคนรวย และเอื้อต่อพรรคการเมืองบางพรรค หรือไม่ ดังนี้

ชาวบ้านวิพากษ์วิจารณ์กันว่า มีสินค้าในร้านธงฟ้าประชารัฐหลายรายการ มีราคาแพงกว่าท้องตลาด เป็นการเอาเปรียบประชาชน และที่สำคัญในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ผู้สมัครของพรรคการเมืองบางพรรครณรงค์หาสมาชิกพรรคพ่วงกับการได้รับบัตรคนจน

นอกจากนี้ เมื่อลงพื้นที่ตามตำบล หมู่บ้าน จึงได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวบ้านว่า มีคนจนจริงจำนวนหนึ่ง ไม่ได้รับบัตรคนจน แต่ชาวบ้านคนใดหากไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นตามคำเชิญชวน จะพ่วงได้รับบัตรคนจนด้วย


"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเติมเงินให้บัตรคนจนดังกล่าว ไม่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในตำบล หมู่บ้านได้ แต่กลับกระจุกตัวอยู่กับนายทุนไม่กี่ราย ที่สำคัญ เป็นเงินงบประมาณจำนวนมากนับหมื่นล้านบาท" นายชวลิต ระบุ

ดังนั้น เมื่อจะใช้งบประมาณจำนวนมากดังกล่าว ควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งขณะนี้ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากรายงานให้ประชาชนทราบ เพื่อทราบข้อมูลไปพร้อม ๆ กัน ประกอบการติดตามว่าพรรคการเมืองใด จะจับขั้วกับการเมืองฝ่ายสืบทอดอำนาจบ้าง แม้ที่ผ่านมา 5 ปี ฝ่ายผู้สืบทอดอำนาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องได้

อย่างไรก็ตาม มีกรณีที่น่าเศร้าใจไปมากกว่านั้น ที่ในช่วงเปิดภาคเรียนการศึกษาในปีนี้ ได้เห็นนักเรียน นักศึกษา ร้องไห้ต่อสาธารณะที่ไม่สามารถกู้ยืมเงิน กยศ.เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านการศึกษาได้ สะท้อนการจัดสรรงบประมาณในนโยบายการช่วยเหลือเยาวชนและครอบครัว ที่ขาดการประสานงานระหว่างกระทรวง และขาดการตรวจสอบ เสนอแนะจากสภาผู้แทนราษฎร นับว่าขาดตกบกพร่องอย่างยิ่ง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :