ไม่พบผลการค้นหา
ธ.ก.ส.เน้นชวนเกษตรกรปรับโครงสร้างหนี้ ไม่มีแผนตัดขายหนี้เสียให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หวังให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินต่อ พร้อมนำทัพเกษตรกรหัวขบวนดูงานญี่ปุ่นหวังปลุกไอเดียแปรรูปสินค้า เพิ่มยอดขาย

ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีลูกหนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้ กว่า 7 แสนราย คาดว่าสิ้นเดือนนี้ จะมียอดรวม 1 ล้านราย หรือครึ่งหนึ่งของลูกหนี้ที่มีสิทธิ์ 2.7ล้านราย ส่วนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย (NPL) ที่เข้าพักชำระหนี้ จะสรุปตัวเลขทุกสิ้นเดือนจนสิ้นสุดการลงทะเบียน

ปัจจุบัน NPL ของ ธ.ก.ส. ยังคงทรงตัว โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 66 อยู่ที่ระดับ7% ฉัตรชัย มั่นใจว่า สิ้นปีนี้จะคุมหนี้เสียได้ตามเป้าหมายที่ระดับ 5.5%

“ที่ผ่านมาหนี้เสียของธนาคารไหลเข้าราว 7 พันล้านบาท และไหลออกประมาณ 5พันล้านบาท ตามวัฏจักรรอบการผลิตของเกษตรกร ที่มีความไม่แน่นอนและไม่เหมือนกันของพืชแต่ละชนิด ทำให้ธ.ก.ส.จำเป็นต้องปรับงวดการชำระหนี้ ให้กระแสเงินสดของลูกค้าสามารถชำระหนี้ได้” ฉัตรชัย กล่าว

ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยืนยันว่า ไม่มีแผนไม่โอนหนี้เสียของธนาคาร ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ที่ธนาคารออมสินกำกับดูแลการจัดตั้งตามนโยบายรัฐ เพราะเมื่อ ลูกหนี้ถูกโอนไปยัง AMC จะทำให้ทรัพย์ถูกบังคับจำนองขายทอดตลาด ขณะที่นโยบายหลักของธนาคาร คือ ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ และเปิดโอกาสให้เกษตรกรเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ยังมีที่ดินไว้ทำกิน

ขณะเดียวกัน ยังเน้นพัฒนาเกษตรกร โดยระยะต่อไป จะส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ หรือหากยังไม่สามารถตั้งกลุ่มฯ ได้ ธนาคารมีหน่วยงานให้คำปรึกษาเพราะในระยะถัดไป อาจไม่ได้ส่งเสริมแค่ภาคการผลิต แต่จะเข้าไปช่วยวางแผนและจัดการการผลิต การตลาด งานดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ด้วยการจับมือกับมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น ในการสร้างมูลค่าเกษตรมูลค่าสูง

*** ชวนเกษตรกรหัวขบวนดูงานญี่ปุ่น ปลุกไอเดียสร้างรายได้-พัฒนาชุมชน ***

โดยช่วงปลาย ต.ค. ที่ผ่านมา ธ.ก.ส. พาเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งเป็น “เกษตรกรหัวขบวน” 10 ราย ภายใต้โครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาธุรกิจเกษตร การสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเกิดใหม่เช่น 

• การแปรรูปไวน์ โรงกลั่นไวน์เก่าแก่ เมืองคุรุเมะ พื้นที่แรกในการปลูกองุ่น

เคียวโฮที่ดีที่สุดในญี่ปุ่น มีจุดเด่นที่การส่งเสริมอาชีพเกษตรกร ด้วยการรวบรวมผลผลิตคุณภาพจากเกษตรกร เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล นำมาแปรรูป เป็นไวน์ผลไม้

• โรงงานผลิตขนม Yufuin Goemon และเทคนิคในจุดจำหน่ายสินค้าใน

แหล่งท่องเที่ยว ที่เมืองยูฟุอิน

• การทำเครื่องปั้นดินเผาที่ China on the Park และ Arita Porcelein Park 

ธุรกิจที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น ที่ไม่เพียงแค่ความละเอียดและประณีต ยังได้เห็นการจัดแสดงสินค้าในแกลเลอรีเพื่อการตลาด จนถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก

• การทำนาข้าวขั้นบันไดที่ Hamanoura Rice Terraces ฯลฯ

ฉัตรชัย ระบุว่า ต้องการให้ได้เห็นของจริง ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนแนวคิดกับเกษตรกรญี่ปุ่น ดีกว่าการเล่าให้ฟัง การดูวีดิทัศน์ หรือการนั่งอ่านหนังสือ เพื่อให้เกษตรกรหัวขบวนนำไอเดียที่ได้มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจ และขยายผลสู่ชุมชน ซึ่ง ธ.ก.ส.พร้อมสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำให้นำไปต่อยอดธุรกิจและมีรายได้อย่างยั่งยืน

และย้ำว่า ธ.ก.ส.ให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคเกษตรของไทยให้เป็นเกษตรมูลค่าสูง ซึ่งการดูงานได้เห็นหลายมุมมอง หลากมิติของเกษตรกรญี่ปุ่น จะเห็นว่าเกษตรกรญี่ปุ่นจะผลิตสินค้าไม่มาก ทำแค่พอประมาณ แต่ที่น่าสนใจและสำคัญคือ มีส่วนต่าง (มาร์จิ้น) ที่สูงมาก แม้ญี่ปุ่นจะมีทรัพยากรจำกัด และเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยเหมือนกับไทย"