ไม่พบผลการค้นหา
มหากาพย์คดีทางการเมืองที่ยืดยื้อมานานวันนี้ ครบ 9 ปี ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

หากใครยังจำได้ วันที่ 24 พ.ย.2551 หลังการชุมนุมยืดเยื้อมานาน กลุ่มพันธมิตรเคลื่อนขบวนยึดสนามบิน เพื่อรอรับ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กลับจากต่างประเทศ จนกว่าเป็นการชุมนุมยืดเยื้อนาน 10 วันของการยึด 2 สนามบินของประเทศ ก็ทำให้เศรษฐกิจประเทศเสียหายกว่า 2 แสน 9 หมื่นล้านบาท

หากใครลืมเหตุการณ์ในวันนั้นไปแล้ว วอยซ์ทีวีจะลำดับเหตุการณ์ นับจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ถือเป็นการชุมนุมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะใช้เวลานานถึง 193 วัน

เริ่มจาก 9 ก.ย. 2551 นายสมัคร สุนทรเวช ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติเลือกนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทย ขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ แสดงความไม่เห็นด้วย

วันที่ 7 ต.ค. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ เข้าปิดล้อมอาคารรัฐสภา ขัดขวางไม่ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าไปแถลงนโยบายเพื่อเปิดสมัยประชุม เกิดการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิต 2 ราย

-กระทั่ง 24 พ.ย. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ยกระดับการชุมนุม และได้บุกเข้ายึดท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศจะต้องขับไล่รัฐบาลนายสมชายออกไปให้ได้

-วันที่ 25 พ.ย. 2551 นายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทยในขณะนั้น ประชุมหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและเห็นว่าให้ปิดการให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งขาเข้า-ออกโดยไม่มีกำหนด

-และใน 26 พ.ย. 2551 หากหลายคนติดตามรายการข่าวโทรทัศน์ คงจะพอจำกันได้ถึงการปฏิวัติเงียบทางอากาศ เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกเสนอทางออกให้นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา และให้กลุ่มพันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม

– 27 พ.ย. 2551 นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง

– 2 ธ.ค. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษายุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นผลให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยให้นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการรักษาการนายกรัฐมนตรีแทนเป็นการชั่วคราว

– 3 ธ.ค. 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศยุติการชุมนุม ระยะเวลาในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งสิ้น 193 วัน และ ระยะเวลาในการสนามบินถูกปิดตั้งแต่ 24 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2551 รวม 10 วัน

– 9 ธ.ค. 2551 ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่บริเวณรอบท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

พธม.ยึดสนามบิน.jpg

ยึดสนามบินเสียหาย 2.9 แสนล้านบาท

มีการประเมินความเสียหายหลังการยึดสนามบินทั้ง2 แห่ง ระยะเวลา 10 วันจาก 24 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2551 รวม 10 วัน ศูนย์วิจัยกสิกร ไทยประเมินความเสียหาย

 มูลค่า 2 แสนล้านบาท โดยกระทบ ธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน การขนส่งทางอาหกาศ และธุรกิจต่อเนื่อง

ขณะที่บริษัทท่าอากาศยานไทย ประเมินความเสียหาย 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากการปิดสนามบิน 10 วัน

ส่วน ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ประเมินความเสียหาย ภาพรวมเศรษฐกิจ 134,000-215,000 ล้านบาท ส่งผลใหารขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2551 ลดลง 4.1-4.4 %

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย แบ่งการประเมินผลกระทบออกเป็น ด้านการท่องเที่ยว 76,000-120,000 ล้านบาท กระทบด้านการส่งออก 25,000-40,000 ล้านบาท

กระทบด้านการลงทุน 12,000-25,000 ล้านบาท กระทบด้านการบริโภค 21,000-30,000 ล้านบาท

 ด้านนายเสรีรัตน์ ประสุตานนท์ รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทย ประเมินว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิต้องสูญเสียไปในขณะที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสนามบินจนไม่สามารถให้บริการได้ 350 ล้านบาท และ25,000 ล้านบาท เป็นมูลค่าความเสียหายที่ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศต้องสูญเสียรายได้ไปในช่วงเวลา 10 วันนั้น