ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลขอนแก่น เผยความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น เฉลี่ยวันละ 1-2 คน หรือ ปีละกว่า 400 คน เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความรุนแรงด้วยการ “ไม่กระทำ ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย” ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

การป้องกันความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของการประชุมระดับโลก Safety 2018 World Conference on Injury and Prevention ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร สำหรับโรงพยาบาลขอนแก่น เคยได้รับรางวัล จากสหประชาชาติ (UN) สาขาการเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศในงานบริการสาธารณะ ซึ่งมีการมอบรางวัลที่ประเทศเกาหลี เมื่อปี2014 และยังเป็นโรงพยาบาลนำร่องตั้งแต่ปี 2543 ก่อนจะขยายผลไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งสถิติผู้ที่เข้ามารักษาตัว จากเหตุความรุนแรง ที่โรงพยาบาลขอนแก่น มีจำนวนปีละกว่า 400 คน เฉลี่ยวันละ 1-2คน

แพทย์หญิงจรรยาภรณ์ รัตนโกศล ประธานศูนย์พึ่งได้โรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า การทำงานของศูนย์พึ่งได้ จะดูแลผู้ป่วย 4กลุ่ม คือ 1.การบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัว 2.การตั้งครรภ์ขณะไม่พร้อม 3.การค้าแรงงานเด็ก และ4.ด้านการค้ามนุษย์ สำหรับการบาดเจ็บจากความรุนแรงในครอบครัว จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีความซับซ้อน เพราะสาเหตุมักเกิดจากในครอบครัว จึงมีความจำเป็นต้องให้คำแนะนำที่ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหารุนแรงตามมา ตัวอย่างเช่น ภรรยา แทงสามีเสียชีวิต เพราะถูกกระทำมาบ่อยจนทนไม่ไหว

ส่วนการช่วยเหลืออื่นๆ มีทั้งด้านกฎหมายที่เข้ามาช่วยจัดการผู้กระทำ หรือการช่วยเหลือผู้ถูกกระทำในด้านอาชีพ การเป็นอยู่ สภาพจิตใจ แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือในสังคมไทยยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยเรื่องนี้ เช่น การหย่าร้าง ทำให้ผู้ถูกกระทำจำนวนมาก ไม่กล้าออกมารักษา รับคำแนะนำที่ถูกต้อง ปัจจุบันทางศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลขอนแก่น จะเน้นทำงานเชิงรับ หากมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษา และเข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัว ก็จะถูกดูแลโดยศูนย์พึ่งได้ ในตอนนี้มีการขยายไปยังส่วนอำเภอ และตำบล ส่วนในเชิงรุกนั้น จะลงพื้นที่ไปในครอบครัวที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีพ่อเลี้ยง แม่เลี้ยง หรือมีประวัติเคยทำร้ายร่างกายกัน

โดยจะให้ข้อมูลแก่ชุมชนให้มีการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก ส่วนในเด็กนั้นต้องให้ข้อมูล เพื่อในอนาคตจะไม่กลายเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ที่จะต้องร่วมกับทางสถานศึกษา พร้อมทั้งมีระบบในการช่วยเหลือ สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงสามารถขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กว่า 21,844แห่งทั่วประเทศ หรือผู้ที่พบเห็นความรุนแรง แจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่เข้ามาช่วยเหลือ แม้กระทั่งความรุนแรงที่ไม่มีบาดแผล แต่กระทบกระเทือนต่อจิตใจ ก็สามารถรักษาได้

สำหรับเรื่องความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ ที่ต้องให้แต่ละหน่วยงานดูแลในบทบาทที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาพยาบาล ที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข หรือในด้านของเด็กที่ขึ้นกับสถานศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ปัญหาตอนนี้คือการพัฒนาให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมในทุกระดับ ทุกพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบข้อมูล หรือการเข้าถึงการรักษาอย่างถูกต้อง ซึ่งประชาชนจะต้องมีส่วนร่วม ไม่เป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำ รู้ถึงสิทธิและกฎหมาย การช่วยเหลืออย่างปลอดภัย การร่วมกันของชุมชนหันมาตระหนักถึงความรุนแรงด้วยการ “ไม่กระทำ ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย” ต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น

S__38117421.jpg


นางสุทธาทิพย์ รัตนพงษ์เพียร พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศูนย์ OSCC โรงพยาบาลขอนแก่น เปิดเผยว่า ปกติผู้ป่วยจะเข้ามารับการรักษาที่งานบริการผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน หรือจุดคัดกรองผู้ป่วยทั่วไป ซึ่งจะแบ่งลำดับการช่วยเหลือผู้ป่วยที่รับเข้ามาขั้นแรกถือเป็นภาวะวิกฤต เช่น ศีรษะแตก กระดูกหัก ซึ่งจะทราบข้อมูลจากการสอบถามข้อมูลผู้ป่วยโดยพยาบาลวิชาชีพ ก่อนส่งตัวเข้ารับการรักษา จะเข้ารับการรักษาในส่วนผู้ป่วยอุบัติเหตุและฉุกเฉิน หากเกิดจากความรุนแรงในครอบครัวหลังรักษาแล้วเสร็จ จะส่งตัวไปยังศูนย์พึ่งได้ เพื่อประเมินผลว่ามีโอกาสจะถูกกระทำซ้ำหรือไม่ หรืออาจเสี่ยงโดนมาทำร้ายที่โรงพยาบาล จะมีการปิดบังข้อมูลคนไข้ อาจต้องส่งตัวไปที่ศูนย์พักชั่วคราวที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายซ้ำ

นอกจากนี้ยังต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติม เพื่อการช่วยเหลือในรอบด้าน รวมทั้งการเยี่ยมยาหลังจากนั้น ทั้งอาชีพ และความเป็นอยู่ประจำวัน แต่ส่วนมากจะเกิดซ้ำ เพราะลักษณะครอบครัว เมื่อโดนทำร้าย มารักษาตัวหายดี จะกลับไป จึงต้องแนะให้หลีกเลี่ยงเวลามีความเสี่ยง เช่น มึนเมา เคสรุนแรงที่สุดที่เคยเข้ามารักษาคือ สามี ภรรยา ทะเลาะกันแล้วจุดไฟเผา ต้องรักษาตัวอย่างเร่งด่วน ก่อนรักษาเยี่ยวยาสภาพจิตใจหลังจากนั้น ที่ผ่านมาปัญหาที่พบ คือการประสานความช่วยเหลือหลังการรักษา เช่น การทำร้ายร่างกายกัน ระหว่างสามี ภรรยา ก็มักจะกลับไปอาศัยด้วยกันเช่นเดิม หลายกรณีก็เกิดเหตุการณ์ทำร้ายกันมากกว่า 10 ครั้ง ทางศูนย์จะทำได้เพียงแนะนำทางเลือก

น.ส.นอม (สงวนชื่อ-นามสกุล) อายุ 53 ผู้เข้ารับการรักษาที่ OSCC รพ.ขอนแก่น คบกันมาตั้งแต่ปี 2545 เริ่มจากความหึงหวง ทะเลาะ มีปากเสียงธรรมดา ผู้ชายเริ่มมีผู้หญิงคนอื่น ก่อนจะไปติดการพนัน จนกระทั่งทำร้ายร่างกาย ทั้งคิ้วแตก โดนมุมโต๊ะหินอ่อน ด้ามมีด 

นางจุ๋ม (สงวนชื่อ-นามสกุล) อายุ 49ปี ผู้เข้ารับการรักษาที่ OSCC แต่งงานอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่ปี 2540 มีลูกด้วยกัน 1คน เริ่มจากปี 2555 ที่มาทำร้ายร่างกาย เพราะสามีดื่มสุราแล้วขาดสติ