หนังสือพิมพ์นิวส์สเตรทไทม์ส และนิตยสารสถาบันอุดมศึกษา Times Higher Education (THE) รายงานอ้างอิงคำกล่าวของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ หรือ 'หมอธี' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของไทย ซึ่งร่วมพูดคุยในการประชุมสถาบันอุดมศึกษานานาชาติ หรือ Going Global: International Higher Education Conference ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การบริหารสถาบันอุดมศึกษาของไทยยังมีปัญหา เพราะผู้บริหารจำนวนมากนั้นเป็นคน 'รุ่นเก่า' เกินกว่าจะเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่ดีต่อสถาบัน
นิตยสารดังกล่าวรายงานว่า นพ.ธีระเกียรติเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูประบบสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ตั้งแต่ระดับบนสู่ระดับล่าง รวมถึง 'ระดับชาติ' เพื่อพัฒนามาตรฐานด้านการศึกษาภายในประเทศ ส่วนอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษาไทย ได้แก่ ภาวะขาดแคลนบุคลากรในตำแหน่งบริหารที่มีความรู้ความสามารถ ขณะที่คนมีความรู้ความสามารถส่วนใหญ่มักจะท้อกับระบบที่เป็นอยู่
อย่างไรก็ตาม นพ.ธีระเกียรติระบุว่า รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาเฉพาะด้าน เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์-การวิจัย โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่รัฐบาลก็เกรงว่าสถาบันอุดมศึกษาจะมีอิสระในการปกครองมากเกินไป ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติย้ำว่า 'อิสระในการปกครองตนเอง' กับ 'อิสระทางวิชาการ' เป็นคนละเรื่องกัน
อีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาไทยในทัศนะของ นพ.ธีระเกียรติ คือ การร่วมมือกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาต่างประเทศและสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย โดยปีที่แล้วมีการใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.จัดตั้งคณะทำงานด้านการศึกษา ซึ่งคาดว่าจะทำให้มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยต่างชาติสนใจเข้ามาเปิดสอนในไทย
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 ตามมาตรา 44 แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ (คพอต.) ทำหน้าที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาโดยสถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศ และขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา-ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว
Photo by Igor Ovsyannykov on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: