นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 ก.ค.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือการขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งจะสิ้นสุดเวลาวันที่ 30 ก.ย. 2561 โดยให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 (ไม่รวมภาษีท้องถิ่น) หรือร้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561-30 ก.ย. 2562
ทั้งนี้ คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้จากการคงภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ประมาณ 258,500 ล้านบาท ส่วนเหตุผลการขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7 ครั้งนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจกำลังขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2560
"คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2561 จะดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2560 ส่งผลต่ออุปสงค์ การบริโภค การลงทุน ดังนั้นจึงเห็นควรให้ขยายเวลาใช้ VAT (แวต) ร้อยละ 7 ออกไปอีก 1 ปี" นายณัฐพร กล่าว
ด้านกรมสรรพากร เผยแพร่เอกสาร ระุว่า การเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... โดยให้ยังคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปีนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชน สร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้กับภาคเอกชน และสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเพื่อให้อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและฐานะทางการคลังของประเทศ
อีกทั้ง กระทรวงการคลัง ยังระบุในเอกสารชี้แจงการนำเสนอลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ไว้ว่า แนวโน้มภาวะเศรษบกิจของประเทศไทยในปี 2561 คาดว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยมีปัจจัยจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสอดคล้องกับประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อการบริโภค และการลงทุนภาครัฐประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่อยู่ในเกณฑ์สูง
รวมทั้ง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในประเทศไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าสินค้าส่งออกที่ขยายตัว และรายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตรที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในด้านอุปสงค์ การบริโภค การลงทุนให้มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการคงจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร่้อยละ 7 (รวมภาษีท้องถิ่น) จะช่วยลดผลกระทบจากค่าครองชีพให้กับประชาชน พร้อมกับช่วยกระตุ้นการบริโภคของประชาชน ช่วยภาคธุรกิจให้มีการลงทุนเพิ่ม และส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว ส่วนในด้านผู้ประกอบธุรกิจ ทำให้เกิดความชัดเจนในเรื่องอัตราภาษี ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชนด้วย
ข่าวเกี่ยวข้อง :