ไม่พบผลการค้นหา
กรมการขนส่งทางบก แจงสาเหตุการขอแก้ไขกฎหมาย กรณีโทษความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ เพื่อสร้างเสริมวินัยการขับขี่ ลดสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากการไม่มีใบอนุญาตขับรถ หวังเพิ่มความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กฎหมายด้านการขนส่งทางบกฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบันได้บังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 ซึ่งการขอแก้ไขพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัย และให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้มีส่วนในการสร้างความตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคม 

เนื่องจากข้อมูลศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย พบว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่ไม่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ มีโอกาสการเสียชีวิตร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มผู้ขับขี่ที่มีใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ถึงสองเท่า และจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ระบุว่า เด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 15-19 ปี เป็นกลุ่มอายุที่มีการเสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนสูงสุดเฉลี่ยปีละ 1,688 คน 

ทั้งนี้ จากการศึกษาจากต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา พบว่ากรณีความผิดเกี่ยวกับการขับขี่โดยไม่มีใบอนุญาตขับรถในประเทศญี่ปุ่น มีโทษปรับไม่เกิน 300,000 เยน (88,000 บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี และถูกตัดแต้ม 12 คะแนน ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา มีโทษปรับไม่เกิน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (800,000บาท) หรือจำคุกไม่เกิน 5 ปี และถูกบันทึกประวัติตลอดชีวิตด้วย 

รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวต่อว่า เพื่อให้ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุและลดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรมการขนส่งทางบกจึงได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งรวมเข้าเป็นฉบับเดียวกัน 

โดยปรับปรุงรายละเอียดของกฎหมายให้เป็นเครื่องมือในการควบคุมกำกับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้มากขึ้น รวมถึงปรับบทลงโทษกรณีผู้ขับขี่กระทำผิด โดยความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาตขับรถ เสนอให้ปรับโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมที่ปัจจุบันตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท และพ.ร.บ.ขนส่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

รถติด-ปัญหาการจราจร

ส่วนความผิดเกี่ยวกับการขับรถในระหว่างใบอนุญาตสิ้นอายุ ถูกพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือถูกยึดใบอนุญาต ปรับโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท จากเดิมตาม พ.ร.บ.รถยนต์ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท พ.ร.บ.ขนส่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท และพ.ร.บ.จราจร มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ ไม่เกิน 40,000 บาท 

ด้านความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่แสดงใบอนุญาต ปรับโทษสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท จากเดิมตาม พ.ร.บ.รถยนต์ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท และพ.ร.บ.ขนส่ง ปรับไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกฉบับใหม่อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนส่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 

ทั้งนี้ จากการเสนอแก้ไขปรับเพิ่มโทษกรณีความผิดดังกล่าว จะทำให้การพิจารณาโทษตามฐานความผิดอยู่ในดุลพินิจของชั้นศาล ซึ่งจะทำให้ผู้ขับขี่ตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจรมากขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหนึ่งเท่านั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่ผู้ขับขี่ ซึ่งต้องตระหนักถึงความปลอดภัยและนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังอย่างทั่วถึง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวในที่สุด

ด้าน น.ส.จุฑารัตน์ เอื้อสุนทรวัฒนา อาชีพพนักงานบริษัท อายุ 29 ปี เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฏหมายให้พกใบขับขี่ระหว่างที่ขับ เหมือนกับการพกบัตรประชาชน และหากเราขับรถถูกกฏจราจร ไม่ต้องกลัวว่าจะโดนปรับหรือตั้งด่าน ถ้าทุกคนเคารพกฎ เชื่อว่าทุกคนจะปลอดภัยบนท้องถนน ส่วนที่มีโทษปรับสูงขึ้น มองว่ายังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณายังไม่ได้ข้อสรุป ต้องดูต่อไปว่าโทษที่ได้รับเหมาะสมกับความผิดหรือไม่ ซึ่งค่าปรับที่สูงขึ้นจะทำให้ปัญหาการจราจรลดลงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนใช้รถใช้ถนน

นายธีวิช สันวงค์ พนักงานบริษัท อายุ 29 ปี ไม่เห็นด้วยกับการเสียค่าปรับ เพราะบางครั้งอาจลืมใบขับขี่มา แล้วเจอตำรวจเรียกตรวจ ต้องเสียค่าปรับสูงสุดถึง 50,000 บาท ซึ่งวิธีนี้ไม่น่าช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้มากนัก โดยการปฏิบัติตามกฏจราจร เป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องรู้หน้าที่ มีจิตสำนึกที่ดีมากกว่า เรื่องนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาการจราจรได้ถูกต้องมากกว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :