ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านที่เจ้าหน้าที่รัฐร่วมกันกำหนดโทษในกฎหมายจราจรโดยไม่ฟังเสียงประชาชน เสนอตั้ง "ศาลจราจร" พิจารณาผู้ทำผิดกฎหมายโดยเฉพาะ

นายศรีสุวรรณ จ��รยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกกฎหมายการจราจรของเจ้าหน้าที่รัฐ ว่า ตามที่กรมการขนส่งทางบกเสนอรวมและแก้ไขกฎหมายจราจรทางบกและกฎหมายรถยนต์ให้เป็นฉบับเดียวกันและเพิ่มบทกำหนดโทษความผิดเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถ คือ ขับรถไม่มีใบขับขี่และหรือใบขับขี่หมดอายุ จำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หากไม่พกใบขับขี่โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เพื่อเสริมสร้างวินัยการขับขี่ และลดอุบัติเหตุทางถนน โดยไม่เปิดหูเปิดตารับฟังเสียงท้วงติงของสาธารณชน เพราะจะกลายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการคอร์รัปชั่นนอกศาล โดยการเรียกรับผลประโยชน์ระหว่างพนักงานเจ้าหน้าที่และผู้ที่กระทำความผิดกฎหมายได้

ข้อท้วงติงของสาธารณชนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เป็นประเด็นที่กรมการขนส่งทางบก และคณะรัฐมนตรีต้องนำมาพิจารณาทบทวนเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว ไม่ใช่การออกมาตั้งโต๊ะแถลงตอบโต้สาธารณชนทั้งกรมการขนส่ง-ตำรวจ และนักวิชาการ โดยพยายามยกข้อเปรียบเทียบกับบทลงโทษในกฎหมายจราจรประเทศต่าง ๆ ที่มีบทลงโทษสูงกว่าไทยหลายเท่าแต่เพียงมิติเดียว หากแต่ไม่คำนึงถึงบริบทของการบังคับใช้กฎหมายของสังคมไทย ที่มีภาวะแทรกซ้อนมากมาย ทั้งระบบอุปถัมภ์ และการใช้เส้นสายของผู้มีอำนาจ ซึ่งท้ายที่สุดผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวมากที่สุด คือ คนยาก คนจน คนหาเช้ากินค่ำ ที่จะต้องติดคุกแทนค่าปรับจนล้นคุก ดังเช่นการเพิ่มโทษกฎหมายยาเสพติด และกฎหมายเมาแล้วขับ ซึ่งก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ลดลงแต่อย่างใด

การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าวแม้มีความจำเป็น แต่ต้องรับฟังเสียงของประชาชนเป็นที่ตั้งตามที่ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 77 บัญญัติไว้ และจะต้องปรับแก้ไขหรือยกเลิกระเบียบว่าด้วย “ส่วนแบ่งค่าปรับจราจร” ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นการกำหนดโทษความผิดการจราจรที่สูง จะเป็นเหตุให้เกิดการเรียกรับผลประโยชน์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นได้ เพราะไม่ต้องเสียเวลาไปขึ้นศาล และควรมีการจัดตั้ง “ศาลจราจร” ในระบบไต่สวนขึ้นมาเสียก่อนที่จะปรับแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถนำภาพวิดีโอ หรือกล้องหน้ารถ กล้องมือถือมาเป็นพยานหลักฐานในฟ้องร้องพนักงานเจ้าหน้าที่ที่กลั่นแกล้งหรือเรียกรับผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น และต้องเพิ่มโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เรียกรับผลประโยชน์มากกว่า 2 เท่าของโทษที่ประชาชนได้รับด้วย

นอกจากนั้น การเพิ่มโทษกรณีไม่พกพาใบขับขี่ เป็นการกำหนดโทษที่สวนทางกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งใช้เทคโนโลยีออนไลน์ในทุกหน่วยงานของประเทศ ดังนั้นการหลงลืมการพกพาใบขับขี่จึงไม่ใช่เหตุที่จะเป็นความผิดที่รุนแรง หรือเหตุที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ ยกเว้นจะมีงานวิจัยกำมะลอ ที่สามารถนำมาหลอกได้แต่เฉพาะคนที่กินแกลบกินหญ้าให้เชื่อได้เท่านั้น ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวหากกรมการขนส่งทางบกและคณะรัฐมนตรีไม่สั่งทบทวน สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยก็จำต้องหาข้อยุติในการ “ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” ต่อไปแน่นอน


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง