ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในทุกปี ที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลจะมีการตั้งฉายานายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ตลอดจนนักการเมือง เพื่อสะท้อนการทำงาน และเรื่องเด่นๆที่ถูกกล่าวถึงในแต่ละปีตามหลักการตรวจสอบที่สื่อยึดถือ
แต่ภายหลังจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล งดตั้งฉายารัฐบาล โดยยกเหตุผลตามหลักปฏิบัติที่ยึดถือกันมาว่า จะไม่ตั้งฉายากรณีเป็นรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจหรือรัฐประหาร หรือกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงจนรัฐบาลทำงานไม่ครบปี รวมถึงกรณีสถานการณ์บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะไม่ปกติ
หลังจากนั้นในปี 2557 น.ส ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐบาลรักษาการณ์ สื่อทำเนียบก็ประกาศ งดตั้งฉายาเช่นกัน
สำหรับรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปี2560 ถือเป็นปีที่3 ที่สื่อทำเนียบรัฐบาลงดตั้งฉายา ด้วยเหตุผลเดียวกันทั้งหมดคือ เป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร และบรรยากาศการเมืองอยู่ในภาวะที่ยังถือว่าไม่ปกติ ทั้งยังอาจถูกนำไปขยายความขัดแย้ง เชื่อมโยง หรือขยายผลในทางการเมือง จนตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ได้เคยงดตั้งฉายารัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง อาทิ ในปี 2549-2550 รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มาจากการรัฐประหาร ในปี 2551 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ในปี 2556
หากลองย้อนดูฉายาที่ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ตั้งให้รัฐบาลที่ผ่านมา ถือว่าร้อนแรง ดุเดือด เผ็ด มัน ในทุกปี ด้วยเหตุผลเพื่อสะท้อนความคิดเห็นของสื่อมวลชนต่อการทำงานของรัฐบาล
ในปี 2552 รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ครบ 1 ปี สื่อทำเนียบได้ให้ฉายาว่า รัฐบาล"ใครเข้มแข็ง?" จากการประกาศแผนปฏิบัติการ "ไทยเข้มแข็ง" เพื่อลงทุนยกเครื่องประเทศครั้งใหญ่ ภายใต้ พ.ร.บ. และพ.ร.ก.เงินกู้รวม 8 แสนล้านบาท นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความโปร่งใส
ส่วนนายอภิสิทธิ์ ได้รับฉายา "หล่อหลักลอย" จากภาพลักษณ์หน้าตาดี การศึกษาดี โดยเมื่อรับตำแหน่งได้ประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ ให้ครม.มีความรับผิดชอบทางการเมืองมากกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่เมื่อมีรัฐมนตรีบางคนมีปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย หรือมีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส กลับไม่ได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง หลักที่เคยประกาศไว้จึงเหมือนคำพูดที่เลื่อนลอย ไม่เป็นไปตามหลักการที่วางไว้
ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายา "แม่นม อมทุกข์" เพราะเป็นผู้ที่คอยอุ้มชู และสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ ในทางการเมืองทุกอย่าง ถึงขั้นประกาศว่าความใฝ่ฝันทางการเมืองสูงสุดคือการผลักดันให้นายอภิสิทธิ์ ได้เป็นนายกฯ
ถัดมาในปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้รับฉายาว่า "รัฐบาลรอดฉุกเฉิน" เพราะต้องเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน จนต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์ จนสุดท้ายรอดจากวิกฤตต่างๆ รวมทั้งรอดพ้นจากคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางข้อกังขาจากสังคม
ขณะที่ในปีนั้น นายอภิสิทธิ์ ฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับฉายาว่า "ซีมาร์คโลชั่น" เพราะการปฏิบัติหน้าที่ทำได้เพียงเป็นการบรรเทาโรค ไม่ต่างจาก “ซีม่าโลชั่น” ทาแก้คันเท่านั้น ส่วน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาว่า "ทศกัณฐ์กรำศึก" เนื่องจากเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในทุกเรื่อง เปรียบเหมือนทศกัณฐ์ที่มีหลายหน้า
กระทั่งในปี 2554 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับฉายาว่า "ทักษิณส่วนหน้า" เพราะไม่สามารถสลัดภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไปได้ จนเหมือนเป็นส่วนหน้าของ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้ว ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาว่า "นายกฯ นกแก้ว" จากความสวยเหมือนนกแก้ว แต่กลับไม่สามารถบินไปไหนมาไหนได้ด้วยตัวเอง ด้านนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้รับฉายาว่า "ทักษิโด้โชว์ห่วย" จากการเป็นผู้ที่แต่งกายและมีบุคลิกดี แต่เมื่อถึงเวลาแสดงผลงานกลับสอบตกจนมีเสียงเรียกร้องภายในพรรคให้ปรับออกจากตำแหน่ง
ต่อมาปี 2555 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับฉายาว่า "พี่ชายคนแรก" โดยล้อมาจากนโยบาย "รถคันแรก" และ "บ้านหลังแรก" เพราะรัฐบาลชุดนี้บริหารประเทศภายใต้เงาของพี่ชาย
ส่วน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้รับฉายาว่า "ปูกรรเชียง" โดยล้อมาจากชื่อเล่นของนายกฯ ที่มีลักษณะเดินเซไปเซมา ไม่ตรงทาง เหมือนกับการบริหารงานที่ต้องแบกรับภาระ และใบสั่งจากพี่ชายและพี่สาว ขณะ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ได้รับฉายาว่า "กันชนตระกูลชิน" เพราะมีบทบาทเป็นบอดี้การ์ดคอยปกป้องนายกฯ และนายใหญ่คนตระกูลชินวัตรเสมอมา
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ฉายา "ลูกไก่ไวท์ไล" จากการตั้งเป้าทางเศรษฐกิจเกินจริง ล้อจากชื่อเล่น “โต้ง” แต่เนื่องจากผลงาน และประสบการณ์ ทางการเมืองยังไม่เด่นชัด และเก่งกาจตามที่ถูกคาดหวัง จึงเป็นได้เพียงลูกไก่ ไม่ใช่ไก่โต้ง