ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ ออกประกาศให้ กรุงเทพมหานคร เป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 22 จังหวัดทั่วประเทศ และจากข้อมูลตั้งแต่เดือน ม.ค 2561 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบสัตว์ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 6 ตัว ในพื้นที่เขตดอนเมือง, บางเขน, บางซื่อ, และจตุจักร โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ ส่วนปีที่แล้ว (2560) พบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า 47 ตัว และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเช่นกัน
ผู้ว่าฯ กทม. ยอมรับว่า เจ้าหน้าที่ กทม. ไม่มีกำลังและเวลามากพอในการจับสุนัข-แมวจรจัด เพราะปัจจุบันมีจำนวนมาก จึงเน้นให้บริการทำหมัน พร้อมขอให้ประชาชน อย่านำสัตว์เลี้ยงไปปล่อยทิ้งตามวัด หรือที่สาธารณะ แต่ขอให้แจ้งมายังเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต หรือสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร เพื่อให้รับไปศูนย์พักพิง ทั้ง 2 แห่งของ กทม. ได้แก่ ที่เขตประเวศ สามารถรองรับสุนัขจรจัดได้กว่า 2,000 ตัว รวมทั้งยังได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับพักพิงแมวจรจัดไว้เพิ่มอีก 500 ตัว และที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี สามารถรองรับได้ 8,000 ตัว
ส่วนแนวคิดการฆ่าสุนัขจรจัด เพื่อหยุดการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ กทม. จะไม่ทำร้าย หรือฆ่าสัตว์จรจัด เพราะเป็นบาป แต่จะแก้ปัญหาด้วยการนำไปไว้ที่ศูนย์พักพิง
นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมจังหวัดรอยต่อกรุงเทพฯทั้ง 6 จังหวัด เพื่อทำงานแบบบูรณาการในการแก้ไขปัญหาโรคพิษสุนัขบ้าอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันว่า กทม. ไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แต่ละปีจะจัดเตรียมได้ 2-3 แสนโดส ซึ่งเหลือทุกปี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง