นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากปัญหาขย��ตกค้างที่เกิดขึ้นมาถึงปัจจุบัน ยังเหลือขยะสะสมตกค้าง อีกประมาณ 7.7 ล้านตัน ตามเป้าหมายของแผนแม่บทการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายของประเทศ (พ.ศ. 2559 - 2564) กำหนดจัดการกับขยะสะสมที่ตกค้างให้หมดไปร้อยละ 100 ภายในปี 2562 และมีขยะใหม่เกิดขึ้นอีกวันละ 75,000 ตัน
กรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่อำนาจหน้าที่ในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และกฎหมายเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกากของเสีย สารอันตราย คุณภาพน้ำ อากาศ ระดับเสียง และความสั่นสะเทือน และให้ความช่วยเหลือและคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการจัดการมลพิษ จึงได้ออกประกาศกรมควบคุมมลพิษ จำนวน 4 ฉบับ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้เป็นแนวทาง ในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายเป็นไปตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง
ประกาศที่ออกมาประกอบด้วย
1. เรื่อง แนวทางการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบเทคโนโลยีการจัดการขยะที่เหมาะสมสำหรับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในประกาศนี้จะมีเทคโนโลยี ระบบฝังกลบอย่างถูกหลักวิชาการ ระบบฝังกลบแบบกึ่งใช้อากาศ ระบบการหมักเพื่อผลิตก๊าซ ระบบการหมักทำปุ๋ย (สารบำรุงดิน) ระบบการผลิตเชื้อเพลิงขยะ ระบบเตาเผาขยะ โดยพิจารณาความเหมาะสมจากจำนวนขยะที่เข้าสู่ระบบไม่เกิน 15 ตันต่อวัน ไปถึงมีขยะมากกว่า 700 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกเทคโนโลยี ยังคงต้องคำนึงถึงความเหมาะสมเชิงพื้นที่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การยอมรับของชุมชนในพื้นที่ เป็นต้น
2. เรื่องแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอยด้วยเตาเผาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งกลุ่มเตาเผาออกเป็น 4 กลุ่ม ตามสภาพการใช้งานในปัจจุบันของเตาเผาในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 เตาเผาที่มีความสามารถในการเผาไม่เกิน 3 ตันต่อวัน ( 24 ชั่วโมง) กลุ่มที่ 2 เตาเผาที่มีความสามารถในการเผามากกว่า 3 ตันต่อวัน แต่ไม่เกิน 30 ตันต่อวัน ( 24 ชั่วโมง) กลุ่มที่ 3 เตาเผาที่มีความสามารถในการเผามากกว่า 30 ตันต่อวันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ตันต่อวัน (24 ชั่วโมง) และกลุ่มที่ 4 เตาเผาที่มีความสามารถในการเผามากกว่า 50 ตันต่อวัน (24 ชั่วโมง)
3. เรื่องคุณลักษณะเบื้องต้นที่เหมาะสมสำหรับเชื้อเพลิงขยะจากขยะมูลฝอยชุมชน ได้จำแนกคุณลักษณะทางกายภาพ เช่น ปริมาณความร้อนสุทธิ ค่าความชื้น ความหนาแน่นรวม และคุณลักษณะทางด้านเคมี เช่น ปริมาณคลอรีน ปริมาณเถ้า ความเข้มข้น/ปริมาณของปรอท/ปริมาณของแคดเมียม/ปริมาณของโลหะหนัก และกำหนดรายละเอียดวิธีการสุ่มเก็บตัวอย่าง การวิเคราะห์ ทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี และการขนส่งเชื้อเพลิงขยะ
4. เรื่องหลักเกณฑ์การออกแบบและก่อสร้างสถานที่คัดแยกและแปรสภาพขยะมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิงขยะเบื้องต้น เพื่อให้ อปท.และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ใช้ประกอบในการพิจารณาออกแบบและก่อสร้างสถานที่คัดแยกและแปรสภาพขยะมูลฝอยเพื่อผลิตหรือแปรรูปเชื้อเพลิงขยะที่มีการก่อสร้างในลักษณะอาคารหรือโรงเรือนเบื้องต้น และเป็นการป้องกันและลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการผลิตหรือแปรรูปเชื้อเพลิงขยะ
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆ สามารถนำประกาศไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายให้เป็นไปตามเป้าหมายและมีประสิทธิภาพได้