ไม่พบผลการค้นหา
'เพื่อไทย' บี้ กกต. ทบทวนผ่อนคลายกฎเหล็ก 180 วัน ให้ฝ่ายการเมืองช่วยเหลือประชาชน กรณีเกิดภัยพิบัติ อัดแผนจัดการน้ำรัฐบาล 'ประยุทธ์' เป็นแผนระยะสั้น-ใช้งบไม่ตรงจุด ต้องมีแผนระยะยาว-เป็นระบบกว่านี้

วันที่ 28 ก.ย. 2565 วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พร้อมด้วย ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงเรียกร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณาทบทวนระเบียบการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนและประสบกับวิกฤติจากพายุโนรู

โดย วรวัจน์ มองว่า กรอบ 180 วันของ กกต. อาจเป็นอุปสรรค และปิดกั้นฝ่ายการเมือง ที่ไม่สามารถลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนได้อย่างทันท่วงที โดยมองว่า การให้ความช่วยเหลือไม่ใช่เฉพาะการแจกของ แต่ต้องเตรียมแผนเผชิญเหตุ และการเตรียมการอื่นๆด้วย เพราะคิดว่า พายุโนรูจะสร้างความเสียหายให้กับหลายจังหวัดเป็นอย่างมาก อีกทั้ง รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือได้ไม่ทันท่วงที หรืออาจยังไม่ครอบคลุม จึงขอเรียกร้องให้ กกต. ผ่อนคลายข้อปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติ พร้อมยืนยันไม่มีเจตนาไปหาเสียง และไม่ใช่เวลาหาเสียง แต่เห็นว่าภัยพิบัตินั้นเป็นเรื่องที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที พร้อมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้เป็นอย่างดี

วรวัจน์ 1368.jpg

ด้าน ลิณธิภรณ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ส่งผลให้สถานการณ์พายุทวีความรุนแรงขึ้น แต่สิ่งที่เห็นจากรัฐบาลยังคงเป็นการช่วยเหลือในระยะสั้น อาทิ การจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุในระดับจังหวัด ที่ดูเหมือนจะช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็วขึ้น แต่หากพิจารณารายละเอียดจะเห็นว่า การบริหารจัดการน้ำในองค์รวมยังไม่เป็นระบบ 

โดยสำหรับแผนบริหารจัดการน้ำปี 2560-2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ขออนุมัติงบกลางเพื่อแก้ไขปัญหา แต่พบว่ามีโครงการที่ไม่แล้วเสร็จกว่า 2,098 โครงการ อีกทั้งในปี 2565 ยังขออนุมัติงบกลางเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเพิ่มอีกกว่า 4,000 ล้านบาท รวมแล้วใช้งบประมาณไปกว่า 4 แสนล้านบาท แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม เป็นการใช้งบประมาณไม่ตรงจุด แตกต่างจากแผนบริหารจัดการน้ำในภาพรวม ช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 ที่ใช้งบประมาณ 3.2 แสนล้านบาท โดยหลังจากนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือการช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจัง ต้องมีแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวและเป็นระบบมากกว่านี้