ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์ เผยโรค 4S เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ "Staphylococcus aureus" พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารก และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ หากเกิดในเด็กต้องระวังภาวะแทรกซ้อน

นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “คุณหญิง ฉัตรเพชรฯ” โพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวของเด็กหญิงอายุ 5 เดือน 5 วัน ป่วยเป็น "โรค4S" โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีอาการผิวหนังเริ่มด้วยอาการหลุดลอกมีจุดเล็กๆ สีเหลือง หนังที่แดงเริ่มปริออกเหมือนคนถูกน้ำร้อนลวก ผิวหนังแดงที่เบ้าตา 2 ข้าง รอบปาก ร้องงอแง ซึ่งได้ไปพบแพทย์ วินิจฉัยว่าเด็กมีการติดเชื้อทางผิวหนังอย่างรุนแรง ต้องให้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่ทันอาจติดเชื้อเข้ากระแสเลือดถึงแก่ชีวิต

จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า โรค 4S พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารก และเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี รวมถึงมีโอกาสเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีโรคไตด้วย เนื่องจากไม่มีภูมิต้านทานต่อท็อกซินและไตไม่สามารถทำงานได้ดีในการขับท็อกซินออกไปจากร่างกาย อาการของโรคนี้ คือ เด็กจะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย ตัวแดง ร้องงอแง เจ็บบริเวณผิวหนัง โดยอาจมีน้ำมูกไหล มีหนอง เยื่อบุตาอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรียที่สะดือ หูน้ำหนวก หากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เชื้อกระจายมากขึ้นหรือได้รับเชื้อโรคจากผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อดังกล่าวได้

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ลักษณะผื่นที่ผิวหนัง คือ มีผิวแดงและเจ็บ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า ผื่นรอบตา รอบปาก ก้น ซอกพับ ผื่นสามารถกระจายไปทั่วตัวอย่างรวดเร็วใน 1 - 2 วัน จากนั้นจะสังเกตเห็นการลอกของผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการแยกตัวของหนังกำพร้าชั้นตื้น มีแผลถลอกตื้นๆ หรือเป็นแผ่นและสะเก็ด ลักษณะจำเพาะ คือ สะเก็ดลอกจะเรียงเป็นเส้นๆ ในแนวรัศมี รอบปาก และดวงตา การวินิจฉัยแยกโรค ต้องแยกกับอาการแพ้ยา โรคคาวาซากิ ผิวไหม้จากแดด

สำหรับโรคนี้รักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำเพื่อกำจัดเชื้อที่สร้างท็อกซิน ให้สารน้ำให้เพียงพอเนื่องจากผู้ป่วยมีการสูญเสียน้ำทางผิวหนังมากกว่าปกติ สำหรับการรักษาจะเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้และแก้ปวด ร่วมกับการดูแลแผล โดยผิวหนังจะหายเป็นปกติหลังจากผื่นหาย

อย่างไรก็ตาม ในเด็กเล็กหรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ จะต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิด เช่น ภาวะขาดสารน้ำ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต



  Photo by Carlo Navarro on Unsplash