นายกรีชา เกิดศรีพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง ในฐานะรองโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า กรณีที่มีประเด็นในโซเชียลมีเดียระบุถึงการปฏิบัติพิธีการทางศุลกากรของที่ติดตัวผู้โดยสาร ที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานนั้น พบว่า ผู้โดยสารฯ เดินทางจากฮ่องกง ถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2561 โดยเที่ยวบินที่ CX 615 เดินออกช่องเขียวทาง EXIT C เวลาประมาณ 11.00 น. เมื่อถึงประเทศไทย เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้เรียกตรวจพบว่า ผู้โดยสารมีกระเป๋าแชเนล (CHANEL) รุ่น BOY สภาพใหม่ เจ้าหน้าที่สังเกตเห็นว่ามีซีลพลาสติกใสปิดที่โลโก้ จึงขอเปิดกระเป๋าเดินทางเพื่อตรวจสอบ
จากการเปิดตรวจจึงพบเป็นกล่องกระเป๋า CHANEL สภาพใหม่ และเสื้อคลุมยี่ห้อ BURBERRY ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงขอตรวจสอบกระเป๋าถือและนำเลข HOLOGRAM STICKER และ Authenticity Number (หมายเลขของกระเป๋าที่ประทับบนโลโก้ CHANEL ด้านใน และหมายเลขในการ์ดสีดำขอบทอง) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ระบุจะบ่งบอกปีที่ผลิต และจะทำให้เห็นว่าเป็นของรุ่นใหม่
"เมื่อเช็คด้วยโฮโลแกรม สติ๊กเกอร์ เช็คลึกเข้าไปก็จะทราบได้เลยว่า กระเป๋าใบนี้ ผลิตปีไหน ขายให้ใคร อย่างไร ได้ชัดเจน ขณะที่ผู้โดยสารบอกว่า กระเป๋าใบนี้แฟนซื้อให้เป็นของขวัญ ซึ่งเจ้าหน้าที่สนามบินได้ชี้แจงกับผู้โดยสารว่า กรณีของฝากของขวัญไม่มีสิทธิยกเว้นอากร นอกจากเป็นของส่วนตัว ซึ่งถ้าราคาไม่เกิน 20,000 บาท จะได้รับการยกเว้นอากร แต่ประเด็นคือ ผู้โดยสารก็ไม่ทราบว่าราคาเท่าไร เพราะแฟนซื้อให้ เจ้าหน้าที่จึงสืบหาราคาให้ ซึ่งพบว่า กระเป๋ารุ่นนี้ราคาไม่ต่ำกว่า 7-8 หมื่นบาท จึงต้องเสียภาษีศุลกากรร้อยละ 20 และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7" นายกรีชา กล่าว
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศุลกากรได้สอบถามการได้มาเกี่ยวกับกระเป๋าดังกล่าว ซึ่งผู้โดยสารแจ้งว่า เป็นของขวัญที่ได้รับจากเพื่อนชายต่างประเทศ ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้แจ้งผู้โดยสารว่า กระเป๋าใบนี้ต้องเสียภาษีอากร ซึ่งผู้โดยสารไม่ปฏิเสธและยินดีชำระค่าภาษีอากรตามที่เจ้าหน้าที่ได้แจ้ง
เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงร่วมกันพิจารณารับราคาประเมิน 77,000 บาท คิดเป็นภาษีอากรรวมทั้งสิ้น 20,000 บาท ซึ่งผู้โดยสารยินยอมชำระอากรปากระวางจึงดำเนินการพิมพ์ใบเสร็จรับเงินส่งมอบให้ผู้โดยสาร
ทั้งนี้ กรณีดังกล่าว กระเป๋าของผู้โดยสารมิได้เป็นของที่นำไปจากประเทศไทยแล้วนำกลับเข้ามา แต่เป็นของใหม่ที่มีราคาสูงและนำติดตัวเข้ามาในราชอาณาจักร จึงเป็นตามหลักเกณฑ์ที่ต้องชำระค่าภาษีอากร คือ เป็นค่าอากรขาเข้าปากระวาง 15,400 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มปากระวาง 4,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,000 บาท
"ผู้โดยสารไม่ได้ปฏิเสธการชำระอากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคของโซเซียล พอกลับบ้านไปแล้ว ก็โพสต์ลงโซเซียลว่า วันนี้เสียภาษีไป 20,000 บาท ไม่ได้แสดงความไม่พอใจ หรือกล่าวอะไรมาก แต่เผอิญว่ามีคนแคปเจอร์ไปโพสต์ต่อ จนเป็นประเด็นในโซเซียล ซึ่งวันนี้เจ้าตัวก็ได้โพสต์เสียใจและขอโทษเจ้าหน้าที่ศุลกากรเช่นกัน"
นอกจากนี้ รองโฆษกกรมศุลกากร ยังได้ขออนุญาตจาก น.ส.ตรีทิพย์นิภา อริยวัฒน หรือน้องกวาง ผู้โดยสารซึ่งเป็นเจ้าของกระเป๋าและถูกกล่าวถึงในโซเซียล ต่อสายเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่สนามบิน ในระหว่างแถลงข่าวกับสื่อมวลชน
น.ส.ตรีทิพย์นิภา อริยวัฒน เจ้าของกระเป๋าแบรนด์เนม กล่าวว่า ตนเดินทางกลับมาจากต่างประเทศถึงสนามบินประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 มี.ค. แต่ด้วยไม่เข้าใจกฎหมายในตอนนั้น จึงเดินเข้าช่องเขียว เพราะคิดว่า ตนไม่ได้มีของมีปัญหาอะไร และเจ้าหน้าที่ก็ขอตรวจตามปกติ พร้อมกับแจ้งว่า สิ่งของที่ถือมามีกล่องใส่ของ ซึ่งตนก็บอกว่า เป็นกล่องใส่กระเป๋าแบรนด์เนมที่แฟนซื้อให้ ซื้อมาตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็อธิบายให้ทราบจนเข้าใจว่า ของนี้เป็นของใหม่ ถ้านำเข้ามาต้องสำแดง และต้องเดินเข้าช่องแดง พอมาช่องเขียว และของมีมูลค่าเกิน 20,000 บาท จึงต้องปรับค่าอากรและเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับตน รวมเป็นเงิน 20,000 บาท ซึ่งตนก็ยินดี ไม่ได้ติดใจอะไร
"เรากลับถึงบ้านก็ปกติ แชตคุยกับเพื่อนว่า โดนภาษี แต่กลับมีบุคคลอื่นที่ไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว แคปฯ หน้าจอไปแชร์ในโซเซียลเป็นหลายพันแชร์ จนเป็นเรื่องขึ้นมา ดังนั้นจึงขอบอกว่า โดยส่วนตัวไม่มีปัญหาใดๆ และไม่มีปัญหากับสิ่งที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการด้วยซ้ำ และยินดีเสียภาษี" น.ส.ตรีทิพย์นิภา
ขณะเดียวกัน ทั้งกรมศุลกากรและ น.ส.ตรีทิพย์นิภาย้ำว่า ไม่ได้รู้สึกติดใจ จนถึงขั้นฟ้องร้อง เพียงแต่อยากชี้แจงผ่านสื่อมวลชนเพื่อเผยแพร่ต่อไปให้เกิดความเข้าใจเท่านั้น
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง :
ชาวเน็ตโวย จนท.ศุลกากรสนามบินเรียกเก็บภาษีนำเข้ากระเป๋าแบรนด์เนม 2 หมื่น