เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของเฟซบุ๊กถูกคณะกรรมการวุฒิสภาของสหรัฐฯ เรียกตัวไปให้ปากคำ กรณีที่สำนักงานสืบสวนสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอของสหรัฐฯ พบเบาะแสว่าเฟซบุ๊กปล่อยให้รัสเซียซื้อโฆษณาในเครือข่ายสังคมออนไลน์ในความดูแลของบริษัท ทำให้มีการเผยแพร่ข้อมูลออนไลน์ที่บิดเบือนและเข้าข่ายแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งกระบวนการสอบสวนเรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่เฟซบุ๊กก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากหลายฝ่าย รวมถึงอดีตผู้บริหารของเฟซบุ๊กอย่างน้อย 2 ราย ซึ่งออกมาแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้ผ่านสื่อสาธารณะ
คนแรกคือนายฌอน พาร์คเกอร์ อดีตผู้ก่อตั้งเว็บไซต์แชร์เพลงออนไลน์ 'แนปสเตอร์' และเป็นหนึ่งในผู้ที่ร่วมพัฒนาเฟซบุ๊กร่วมกับนายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เมื่อปี 2004 ก่อนที่พาร์คเกอร์จะถูกสอบสวนในข้อหามีโคเคนในครอบครอง จนต้องถอนตัวจากเฟซบุ๊กไปในปี 2004 โดยเว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษรายงานอ้างอิงคำพูดของนายพาร์คเกอร์ ซึ่งระบุว่าเฟ��บุ๊กฉวยโอกาสหาผลประโยชน์จากความอ่อนแอทางจิตใจของผู้ใช้เฟซบุ๊ก และการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในปัจจุบันทำให้ผู้ใช้จำนวนมากเสพติดความพอใจที่ได้รับยอดไลก์หรือการแสดงความรู้สึกชื่นชมจากผู้อื่น ทำให้คนรุ่นใหม่เสียเวลาไปกับความพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นในโลกออนไลน์ ซึ่งพาร์คเกอร์ระบุว่าเขาคาดไม่ถึงว่าเฟซบุ๊กจะส่งผลกระทบเช่นนี้ขึ้นมา
ส่วนนายชามัธ พาลิหะปิติยะ อดีตรองประธานบริหารเฟซบุ๊ก ฝ่ายส่งเสริมการเติบโตของผู้ใช้งานเครือข่ายซึ่งลาออกจากเฟซบุ๊กไปเมื่อปี 2011 ระบุว่าเขารู้สึกผิดมากที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมงานกับเฟซบุ๊ก เพราะในปัจจุบัน เฟซบุ๊กคำนึงถึงผลประโยชน์จากการใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์มากกว่าประเด็นอื่นๆ และสิ่งที่เฟซบุ๊กสร้างขึ้นคือการสะท้อนความเห็นซ้ำๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานพอใจในระยะสั้น แต่มันจะทำลายกลไกสังคมโดยรวม เพราะคนในสังคมจะไม่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ไม่ก่อให้เกิดความร่วมมือ มีแต่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จ
นายชามัธยังได้ยกตัวอย่างโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในรัฐฌารขัณฑ์ของอินเดียเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวพันกับกรณีที่ผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นส่งข้อความ 'วอทซ์แอพ' ที่เฟซบุ๊กเป็นเจ้าของ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านและหวาดกลัวคนแปลกหน้า หลังจากที่มีการส่งข้อมูลปลอมเรื่องแก๊งลักพาตัวเด็ก ทำให้ชาวบ้านรุมทำร้ายคนแปลกหน้าเพราะสงสัยว่าจะเป็นกลุ่มก่อเหตุลักพาตัว ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 7 ราย ซึ่งนายชามัธระบุว่า เรื่องพวกนี้กลายเป็นปัญหาสังคมทั่วโลก เพราะเฟซบุ๊กได้ทำลายสายใยและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในโลกจริง
นอกจากนี้ คณะนักวิจัย ACLU ของสหรัฐฯ ยังพบเบาะแสด้วยว่า เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ ยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เคลื่อนไหวทางสังคมให้กับบริษัทประเมินผลข้อมูลการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในสหรัฐฯ ส่งผลให้ข้อมูลของกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนผิวดำรั่วไหล ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็เคยขอความร่วมมือจากเฟซบุ๊กให้ปิดกั้น 'ข้อมูลที่ไม่เหมาะสม' เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เฟซบุ๊กออกแถลงการณ์ตอบโต้อดีตผู้เกี่ยวข้องกับบริษัททั้งสองราย โดยระบุว่า เฟซบุ๊กปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจังและทำงานอย่างหนักเพื่อให้เกิดการพัฒนา ทั้งการวิจัยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ เพื่อศึกษาผลกระทบในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเฟซบุ๊ก และบริษัทกำลังพัฒนาให้บริการต่างๆ เหมาะสมกับความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กจะลงทุนเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ทั้งการส่งเสริมบุคลากร เทคโนโลยี และกระบวนการทำงาน ในขณะที่ผู้บริหารอย่างนายมาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก พร้อมด้วยกรรมการบริหารคนอื่นๆ จะพิจารณาลดเป้าหมายการทำกำไรทางธุรกิจลง เพื่อให้มั่นใจว่าการลงทุนของบริษัทเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อสังคม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เฟซบุ๊กออกมาตรการเข้มงวดแอดโฆษณาทางการเมือง