การตัดสินใจป้องกันโรคของปัจเจกบุคคล
สมมติว่าแต่ละคนเกิดมามีการกระจายความแข็งแรงของร่างกายแล้วแต่โชคชะตา บางคนเกิดมาโชคดีมีร่างกายแข็งแรงกว่า บางคนเกิดมาโชคร้ายอ่อนแอกว่า อย่างไรก็ตามไม่แน่เสนอไปว่าคนที่มีพันธุกรรมแข็งแรงกว่าจะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่มีพันธุกรรมอ่อนแอกว่า เพราะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนใส่ใจกับสุขภาพตนเองมากน้อยเท่าใด มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด และการลงทุนลงแรงใส่ใจสุขภาพตนเองอีกด้วย ซึ่งการที่แต่ละคนจะตัดสินใจดูแลสุขภาพป้องกันโรคหรือลงทุนสุขภาพนั้น มันก็ขึ้นอยู่กับเงินในกระเป๋าและเวลาว่าง เพราะว่าในชีวิตเราอันมีเวลาจำกัดนั้นเราต้องแบ่งเวลาเพื่อทำงานหาเลี้ยงชีพ เพื่อพักผ่อน เพื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมอื่นๆ ส่วนเงินที่เราหามาได้ก็ต้องเอานำมาใช้จ่ายซื้อของกินของใช้ ยารักษาโรคและสิ่งจำเป็นต่างๆเพื่อป้องกันส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งการจะเลือกใช้เวลาและเงินในกระเป๋าก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะถ้าเราใช้เวลาทำงานมากไปนั่นหมายถึงเวลาในการพักผ่อนและออกกำลังกายก็จะน้อยลง เมื่ออกกำลังกายน้อยลงก็อาจส่งผลต่อสุขภาพ การเจ็บป่วยและอายุอาจจะสั้นลง ส่วนถ้าเราใช้จ่ายซื้อของที่จำเป็นที่อยากได้ในปัจจุบันมากๆย่อมหมายความว่าเงินที่เราสามารถใช้ในการรักษาโรคและป้องกันโรคน้อยลงตามมา อาจส่งผลให้สุขภาพและอายุขัยสั้นลงตามมา
ดังนั้นปัจเจกแต่ละคนจะเลือกลงทุนสุขภาพและการป้องกันโรคเมื่อไร ขึ้นอยู่กับว่าเขาคาดคะเนว่าเงินทุนและเวลาที่เสียไปในปัจจุบันจะออกดอกออกผลคุ้มค่าในอนาคต แต่ละคนจะตัดสินใจออกกำลังกาย ฉีดวัคซีน หรือวิธีการป้องกันโรคใดๆนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเขาทราบชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวจะลดความเสี่ยงของโรคเท่าไร ต้นทุนที่ต้องจ่ายกับค่าป้องกันโรคมันคุ้มค่าเมื่อเทียบกับรายได้ที่เขาจะได้ในอนาคตจากการที่ไม่ต้องจ่ายค่ารักษาโรครวมถึงเม็ดเงินที่ได้จากการทำงานในอนาคตเนื่องจากมีอายุขัยมากขึ้น
จากโรคติดต่อสู่โรคไม่ติดต่อ ต้นทุนการป้องกันโรคมากขึ้นเรื่อยๆ
สาเหตุการตายที่สำคัญของประชากรไทยเมื่อ 70 ปีที่แล้วล้วนเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ด้วยวิธีไม่ซับซ้อนและราคาถูก สามารถใช้วิธีการสาธารณสุขเข้าป้องกันโรคครอบคลุมประชากรได้ทีละมากๆส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่ำ นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังได้รับการช่วยเหลือทางการเงิน อุปกรณ์และเทคโนโลยีการแพทย์จากต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น การรณรงค์ต่อสู้โรคมาลาเรีย การต่อสู้กับโรคอหิวาตกโรค พยาธิปากขอ เป็นต้น โรคติดต่อที่ความรู้การแพทย์รู้กลไกการเกิดโรคได้ตรงไปตรงมาชัดเจน เช่น แบคทีเรียตัวไหนทำให้เกิดโรค แบคทีเรียตัวนี้อยู่ในหนองน้ำที่ไม่สะอาด เป็นต้น จะช่วยให้การป้องกันโรคลดความเสี่ยงได้ตรงจุด
แต่ทว่าปัจจุบันโรคที่เป็นสาเหตุการตายของประชากรไทยเปลี่ยนจากโรคติดต่อเป็นโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดัน โรคอ้วน เป็นต้น ล้วนแล้วเป็นโรคที่ไม่ทราบปัจจัยเสี่ยงชัดเจนแน่นอน เพราะมีปัจจัยหลายๆอย่างไม่ว่า ความเครียด อาหารหารกิน การนอนหลับ การออกกำลังกาย โดยที่เราไม่แน่ใจได้ว่าการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะได้ผลแน่นอนเหมือนการควบคุมโรคติดต่อ การป้องกันโรคจึงเป็นต้นทุนที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ
การป้องกันโรคของประชากรแต่ละระดับรายได้
อย่างไรก็ตามการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพมีต้นทุนที่จะหนักหนาสาหัสเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่รายได้ยากจน สมมติว่ารัฐบาลไม่มีนโยบายแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคฟรีถ้วนหน้าแก่ประชากรแล้ว จะมีโอกาสสูงมากที่คนจนจะปฏิเสธไม่รับการฉีดวัคซีน เพราะการจะไปคลีนิคสักแห่งเขาต้องเสียทั้งค่ารถ เวลาในการทำงาน และค่าวัคซีนด้วยตนเอง การลงทุนกับวัคซีนเป็นผลที่ได้ในอนาคต แต่การที่เขาไม่มีรายได้ประจำและถ้าหยุดงานเมื่อไรก็ไม่มีเงินซื้ออาหารให้กับครอบครัวในวันนั้น ผลเสียที่จะอดตายมันทันตาเห็นกว่าการยืดเวลาในอนาคต และวิญญูชนทั่วไปย่อมจะเลือกไปทำงานมากกว่า
ในขณะที่กลุ่มประชากรรายได้ปานกลางจะเป็นกลุ่มที่กระตือรือร้นมากที่สุดในการป้องกันโรคมากกว่า เพราะการมีรายได้ประจำเป็นเงินเดือนถึงแม้จะขาดลางานไปบางวัน ราคาค่าป้องกันเมื่อเทียบกับรายได้ไม่สูงมากนักมีกำลังจ่ายไหว และผลที่ได้ตามมาจากอายุที่ยืนยาวขึ้นและรายได้จากการทำงานมากขึ้นก็คุ้มค่ามากกว่าค่ารักษาเมื่อเจ็บป่วยและค่าเสื่อมสุขภาพ ในทางกลับกันกลุ่มคนที่รวยมากๆกลับจะปฏิเสธการฉีดวัคซีน เพราะโดยปกติแล้วกลุ่มคนเหล่านี้จะมีความเสี่ยงสุขภาพน้อยที่สุด การลดความเสี่ยงด้วยวัคซีนจึงไม่ค่อยมากนัก และถ้าเขาป่วยแล้วค่ารักษาเมื่อเทียบกับรายได้ก็ไม่มากพอที่จะให้กลุ่มคนรวยวิตกกังวล แต่ถ้าเขาฉีดวัคซีนแล้วกลับต้องเผชิญความเสี่ยงของการเจ็บตัวและผลแทรกซ้อนจากวัคซีนด้วย เมื่อกลุ่มคนรวยมากๆประเมินดูจึงรู้สึกไม่คุ้มค่ากลับการต้องแลกเวลาทำงานที่หารายได้มากๆกับการเสียเวลาไปฉีดวัคซีน
การป้องกันโรคด้วยวัคซีนนั้นจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อทุกคนรับการฉีดวัคซีนจนการแพร่ระบาด เชื้อโรค และจำนวนผู้ป่วยค่อยๆลดลงหายไปจากสังคม ดังนั้นภาครัฐจึงมักดำเนินนโยบายวัคซีนถ้วนหน้าโดยไม่คิดมูลค่า และมีทีมแพทย์สนามลงพื้นที่เพื่อเคาะตามประตูบ้านฉีดวัคซีนให้ประชาชนถึงที่โดยเฉพาะในพื้นที่ยากจนกันดาร อย่างไรก็ตามนอกจากปัจจัยด้านการเงินแล้วยังมีปัจจัยอื่นเช่น สังคมวัฒนธรรมก็ส่งผลต่อการตัดสินใจเช่นกัน เช่นความเชื่อด้านศาสนา หรือความชอบส่วนบุคคล ในบางกรณีถึงแม้รัฐแจกจ่ายวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่าก็อาจมีกลุ่มประชากรที่ปฏิเสธอยู่ดี
ถ้าเราอยู่ในรัฐบาลอำนาจนิยมแบบยุโรปช่วงก่อนสงครามโลก วิธีนี้จะแก้อย่างง่ายๆด้วยการออกกฎหมายหรือใช้กำลังบังคับ แต่ปัจจุบันที่โลกพัฒนามากขึ้นวิธีการดังกล่าวย่อมถูกจำกัดลง และเป็นโจทย์สำคัญของบุคลการสุขภาพที่ต้องชักชวนหาวิธีให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนใจมารับการฉีดด้วยตนเอง