(กรุงเทพฯ, 20 มีนาคม 2567) – รัฐบาลไทยควรป้องกันไม่ให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล ที่ได้รับคะแนนเสียงมากสุดในการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้ ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ริเริ่มกระบวนการสั่งยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นการดำเนินการทางการเมืองที่สุดโต่ง ขัดกับความพยายามของไทยที่ได้ลงสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
“หากทางการไทยไม่เปลี่ยนแนวทางจากการสั่งยุบพรรคก้าวไกล รัฐภาคีสหประชาชาติก็ไม่ควรเลือกประเทศไทยเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน” แมธทิว สมิธ (Matthew Smith) ประธานกรรมการบริหาร ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “อาจถือได้ว่าความปรารถนาในระดับสากลของประเทศไทยกับความเป็นจริงทางการเมืองในประเทศนั้น เป็นภาพตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง การสั่งยุบพรรคการเมือง
ที่มีพื้นฐานด้านประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ย่อมเป็นการบั่นทอนคุณสมบัติในการทำหน้าที่ใดๆ ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน”
การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกลเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ของคณะกรรมการ
การเลือกตั้ง เป็นผลมาจากการรณรงค์หาเสียงของพรรค เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทกษัตริย์ รัฐภาคีสหประชาชาติที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมการทูต กลุ่มสิทธิมนุษยชน และหน่วยงานอื่นๆ เคยได้วิจารณ์ว่ารัฐบาลใช้กฎหมายฉบับนี้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง
หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ แกนนำพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลาสิบปี
ประเทศไทยควรยกเลิกการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาททุกประเภททันที ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว นอกจากนี้ ทางองค์กรขอเน้นย้ำว่าตามกฎหมายระหว่างประเทศ การจำคุกถือเป็นบทลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน เกินขอบเขต และไม่จำเป็นต่อความผิดฐานหมิ่นประมาท ยิ่งไปกว่านั้น โทษจำคุกต่อการหมิ่นประมาทยังสร้างความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่ต้องการใช้เสรีภาพในการแสดงออก
มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งต่อพรรคการเมืองครั้งนี้ สอดคล้องกับ คำวินิจฉัย ของศาลรัฐธรรมนูญไทยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่เห็นว่าข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ของพรรค
ก้าวไกลถือเป็นการล้มล้างระบอบปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การสนับสนุนให้แก้กฎหมายดังกล่าว เป็นความพยายามเพื่อล้มล้างระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ
ขัดต่อมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญของไทย ต่อมา คณะกรรมการการเลือกตั้งได้อ้างคำวินิจฉัยของศาล ตลอดจนหลักฐานเพื่อเอาผิดพรรคก้าวไกล รวมถึงระบุว่ามติให้ยุบพรรคก้าวไกลเกิดขึ้นโดยเป็นเอกฉันท์
ข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของพรรคก้าวไกล เป็นไปเพื่อทำให้กรอบกฎหมายในประเทศสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศของเสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น และเพื่อประกันไม่ให้มีการลงโทษอาญาจนเกินขอบเขต สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา ข้อเสนอดังกล่าวรวมถึงการลดโทษจำคุกสูงสุด กรณีที่เป็นการหมิ่นประมาทกษัตริย์จาก 15 ปีเหลือหนึ่งปี และ/หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท ส่วนกรณีหมิ่นประมาทพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ลดโทษจำคุกสูงสุด จาก 15 ปี เหลือไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ที่สำคัญ การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ กำหนดให้มีข้อยกเว้นบทลงโทษฐานหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์ กรณีที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นการวิจารณ์โดยสุจริตตามความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ โดยพรรคได้เน้นย้ำถึงพันธกิจที่จะแก้ปัญหาการนำกฎหมายไปใช้อย่างมิชอบ ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งต่อไปในอนาคต
ภายหลังการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคก้าวได้แสดง เจตนารมณ์ของพรรคว่า “เราไม่ได้มีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยพรรคก้าวไกลเองได้เคยยืนยันอยู่บ่อยครั้งว่า นโยบายของทางพรรคไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือระบอบภายใต้รัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเคย วินิจฉัย ให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และสั่งให้ตัดสิทธิทางการเมืองแกนนำพรรค รวมทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปิยบุตร แสงกนกกุล ศาลเห็นว่าการที่ธนาธรให้พรรคยืมเงิน 191.2 ล้านบาทนั้นผิดกฎหมาย เพราะถือว่าเกินจำนวนเงินรับบริจาคพรรคต่อบุคคลต่อปี ซึ่งต่อมา สมาชิกที่เหลือของพรรคอนาคตใหม่ก็ได้มารวมตัวกันเป็นพรรคก้าวไกล
ก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยใด ๆ ศาลรัฐธรรมนูญควรจัดให้มีกระบวนการที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้นำเสนอพยานหลักฐาน และแสดงจุดยืนของตนในประเด็นตามคำร้อง ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว
ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในวาระปี 2568-2570 เจตนารมณ์ของประเทศที่จะหาเสียงเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะมนตรี สะท้อนถึงพันธกิจที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี การให้คำมั่นดังกล่าวดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับความท้าทายทางการเมืองและกฎหมายที่กำลังเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคฝ่ายปฏิรูปอยู่ ณ ตอนนี้
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลประกอบด้วยรัฐ 47 แห่ง มีหน้าที่เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั่วโลก มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อสถาปนาคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนระบุว่า สมาชิกที่ได้รับเลือกตั้ง “จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสูงสุดในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในไทยถึง 14.4 ล้านคน ได้โหวตสนับสนุนพรรคก้าวไกล ภายใต้กลไกของระบอบประชาธิปไตย” แมธทิว สมิธกล่าว “ความพยายามที่จะยุบพรรคการเมืองถือเป็นการดำเนินการที่มีจุดประสงค์ทางการเมือง ไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็ตาม ประเทศไทยต้องประกันว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานอย่างไม่ลำเอียง เพื่อนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง และจะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและการรวมกลุ่มโดยปราศจากการปราบปราม”