ทวิตเตอร์กองทัพเรือ ROYAL THAI NAVY รายงานความคืบหน้าวันที่ 24 ธ.ค.เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. สรุปพบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 6 ราย ดังนี้
พบร่างผู้เสียชีวิต ใน 24 ธ.ค.65 ณ เวลา 13.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ทวิตเตอร์กองทัพเรือทยอยรายงานความคืบหน้าเป็นระยะ ตั้งแต่ช่วงเช้า ไทม์ไลน์เป็นดังนี้
เวลา 13.15 น. อากาศยาน พบผู้เสียชีวิต 1 นาย (เคสดำ 12) โดย ร.ล.ตากสิน กำลังเข้าเก็บกู้
เวลา 13.20 น.ร.ล.กระบุรี พบผู้เสียชีวิต 1 นาย (เคสดำ 13) กำลังเข้าเก็บกู้
เวลา 11.37 น. ร.ล.ตากสิน พบผู้เสียชีวิต 1 นาย(เคสดำ 9) โดย ร.ล.กระบุรี เข้าเก็บกู้
เวลา 12.10 น. เรือ ต.113 พบผู้เสียชีวิต 1 นาย(เคสดำ 10) โดย ร.ล.กระบุรี เข้าเก็บกู้
เวลา 12.15 น. อากาศยานตรวจพบผู้เสียชีวิต 1 นาย(เคสดำ 11) โดย ร.ล.ตากสิน เข้าเก็บกู้
เวลา 10.14 น. ร.ล.กระบุรี พบร่างผู้เสียชีวิต 1 นาย และได้เก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตนำส่ง ร.ล.ตากสิน เพื่อเดินทางกลับมาพิสูจน์อัตลักษณ์ต่อไป
เวลา 10.50 น. เฮลิคอปเตอร์ ของ ทร. ได้นำร่างผู้สูญหาย 1 นาย ที่ ร.ล.กระบุรี เก็บกู้ได้เมื่อเวลา 08.38 น. เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดำเนินการพิสูจน์อัตลักษณ์ ต่อไป
เวลา 10.14 น. ร.ล.กระบุรี พบร่างผู้เสียชีวิต 1 นาย และได้เก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตนำส่ง ร.ล.ตากสิน เพื่อเดินทางกลับมาพิสูจน์อัตลักษณ์ต่อไป
เวลา 08.38 น. เครื่องบินลาดตระเวน ตรวจพบวัตถุลอยน้ำ คาดว่าจะเป็นผู้เสียชีวิต 1 นาย ขณะนี้ ร.ล.กระบุรี กำลังเดินทางเข้าตรวจสอบ
ทั้้งนี้ จำนวนผู้โดยสารในเรือหลวงสุโขทัยมีทั้งหมด 105 นาย สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ 76 นาย ที่เหลือคือผู้เสียชีวิตและผู้สูญหาย ขณะนี้ยังไม่มีการสรุปตัวเลขอย่างชัดเจนว่าเหลือผู้สูญหายจำนวนเท่าไร
อย่างไรก็ดี สำหรับวันที่ 24 ธ.ค.กองทัพเรือวางแผนการค้นหากรณีเรือหลวงสุโขทัย อับปาง ดังนี้
1.ให้ ร.ล.ตากสิน ร.ล.นเรศวร ร.ล.กระบุรี ร.ล.นราธิวาส ต.114 และ เรือ ต.270 ค้นหาในพื้นที่รับผิดชอบ พร้อมอากาศยาน
2.ให้ ร.ล.ราวี และชุดประดาน้ำ ดำค้นหาผู้ประสบภัยบริเวณ ร.ล.สุโขทัย อับปาง และสำรวจภายนอกตัวเรือ
ด้านเพจ ThaiArmedForce.com ระบุว่า ควรมีผู้ตรวจสอบภายนอกเข้าสอบสวนกรณีเรือหลวงสุโขทัยจม โดยมีเนื้อหาดังนี้
"ข่าวล่าสุดคือ โฆษกกองทัพเรือให้ข่าวว่ากองทัพเรือกำลังตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในการจมของ #เรือหลวงสุโขทัย แล้ว โดยมีการสอบในสองกรณีคือ ก่อนเรือจะอับปาง และหลังเรืออับปางแล้ว
จริงๆ การสอบสวนนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีทุกครั้ง เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ
แต่กรณีนี้เป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจมาก เป็นกรณีใหญ่ เสียหายร้ายแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นครั้งแรกที่กองทัพเรือไทยสูญเสียเรือในลักษณะนี้ จึงเห็นว่า กองทัพเรือควรให้มีผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่สามเข้ามาทำการตรวจสอบคู่ขนานกันเพื่อความโปร่งใส เพราะประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เป็นจำนวนมาก ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนซึ่งเชื่อว่าทุกคนยืนดีช่วยกันค้นหาความจริง
การมีผู้ตรวจสอบที่เป็นบุคคลที่สามหรือ Third-Party Investigator นั้นจะช่วยสร้างความโปร่งใสให้กับการสอบสวน เพื่อลดข้อครหาว่าคนภายในอาจมีการช่วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทัพซึ่งมีรุ่น มีเหล่า มีความเป็นเพื่อนกันสูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อครหาว่าจะมีการช่วยเหลือกัน ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับบคุลากรในองค์กรในการให้ข้อมูลที่เป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจว่า เมื่อให้ข้อมูลแล้ว บุคคลผู้ให้ข้อมูลจะได้รับการคุ้มครองและไม่ถูกเล่นงานย้อนกลับ
ผู้ตรวจสอบภายนอกยังสามารถให้คำแนะนำถึงแนวทางการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต โดยเป็นมุมมองจากภายนอกที่ต่างจากคนภายในกองทัพ ซึ่งเป็นมุมมองใหม่ที่กองทัพสามารถนำไปพัฒนาการดำเนินงานของกองทัพได้
ผู้ตรวจสอบภายนอกยังมีความเชี่ยวชาญเฉพาะ อาจมีเทคโนโลยีและแนวปฏิบัติที่แตกต่างจากกองทัพ ซึ่งจะช่วยให้กองทัพมีเครื่องมือเพิ่มเติมในการค้นหาสาเหตุและหาแนวทางป้องกัน
ที่สำคัญคือ ผู้ตรวจสอบภายนอกไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์และองค์กรนี้ ไม่ได้เป็นผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาใคร หรือไม่ได้รับคุณหรือโทษจากกองทัพเรือได้ ดังนั้นความน่าเชื่อถือของรายงานจากผู้ตรวจสอบภายนอกจึงมีสูง
ในต่างประเทศ มีหลายกรณีที่กองทัพเลือกที่จะเชิญผู้ตรวจสอบภายนอกมาร่วมตรวจสอบหรือตรวจสอบคู่ขนาน เพื่อสร้างความโปร่งใสและเป็นการรับคำแนะนำจากมุมมองที่กว้างขึ้น ที่คนในกองทัพเรือมองข้ามไป
การมีผู้ตรวจสอบภายนอกไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับกองทัพว่าการสอบสวนจะได้ผลลัพธ์ที่นำไปสู่การพัฒนากองทัพที่แท้จริง"