นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 กรมสรรพสามิต จะเก็บอัตราภาษีความหวานเพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่ของกรมที่ออกมาให้มีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามขั้นบันได ทำให้เครื่องดื่มที่มีความหวานเกินกำหนดจะต้องเสียภาษีมากขึ้น เช่น น้ำอัดลม ชาเขียว เครื่องดื่มบำรุงกำลัง กาแฟกระป๋อง น้ำผลไม้ เครื่องดื่มปรุงแต่งต่าง ๆ
ตัวอย่างเช่น น้ำอัดลมกระป๋องขนาด 250 ซีซี. จะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 10 สตางค์ ส่วนผู้ประกอบการจะเพิ่มราคากับผู้บริโภคหรือไม่ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการตลาดของผู้ผลิต ขณะนี้ผู้ประกอบการบางส่วนก็มีการปรับสูตรการผลิต ลดน้ำตาลจาก 14 กรัมต่อลิตร เหลือ 12 กรัมต่อลิตร เพื่อเสียภาษีให้ต่ำลง แต่ในส่วนของน้ำอัดลมสีดำนั้นยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงสูตร เนื่องจากเป็นตลาดใหญ่ หากปรับไปเกรงว่าจะทำให้รสชาติเปลี่ยนและกระทบต่อยอดขาย
นอกจากนี้ กฎหมายสรรพสามิตใหม่ ปี 2560 ยังแก้ไขรายละเอียดกรณีเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมพืชทางการเกษตรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ได้ยกเว้นภาษีสรรพสามิต เพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ถึงจะได้ลดภาษี เพื่อให้มีการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริงมากขึ้น
ทั้งนี้ กฎกระทรวงกําหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตความหวาน กำหนดว่า ตั้งแต่กฎหมายสรรพสามิตมีผลบังคับใช้วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึง 30 กันยายน 2562 ได้แก่
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เว้นการเก็บภาษี
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.10 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.30 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
ส่วนอัตราภาษีใหม่ นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2564
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมต่อมิลลิลิตร เก็บเท่าเดิม แต่ถ้ามี 10-14 กรัม เก็บเพิ่มเป็น 1 บาท
- ถ้าเกิน 14-18 กรัมต่อกรัม เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร
- มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
สำหรับช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 30 กันยายน 2566
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่า 6 กรัมต่อมิลลิลิตร เว้นภาษี น้ำตาลผสม 6-8 กรัม เสีย 0.30 บาท
- น้ำตาลผสมเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร
- ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ 6 กรัม เว้นภาษี
- ���้าน้ำตาลผสมเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร
- เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :