การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปี 2562 ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (6 ก.พ.) เป็นอีกครั้งที่ตลาดเงินตลาดทุนจับตามอง
ขณะที่ บทวิเคราะห์จากธนาคารทหารไทย หรือ TMB Analytics ระบุว่า ในปี 2562 นี้ ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ไปอย่างน้อยอีกครึ่งปี แม้อุปสงค์ในประเทศจะขยายตัวได้ดี เพื่อรอประเมินผลทางเศรษฐกิจจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังทรงตัวในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทาน และค่าเงินบาทที่มีโอกาสแข็งค่าต่อเนื่อง
หากพิจารณาช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในอดีตของ ธปท. อัตราดอกเบี้ยนโยบายมักจะถูกปรับขึ้นติดต่อกันในแต่ละการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน จึงอาจเกิดข้อสงสัยว่าหลังจากปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธปท. จะปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 ก.พ. นี้หรือไม่ เมื่ออุปสงค์ในประเทศปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 4.4 สูงสุดในรอบ 5 ปี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้
ในประเด็นดังกล่าว TMB Analytics มองว่าถึงแม้อุปสงค์ในประเทศจะเติบโตดีในปีนี้ แต่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นหลัก โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่คาดว่าในครึ่งปีแรกจะทรงตัวที่ระดับเพียง 62.5 ดอลลาร์ต่อบาเรล เทียบกับ เฉลี่ยที่ 75 ดอลลาร์ต่อบาเรลจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เงินเฟ้อในช่วงครึ่งแรกของปีอาจเฉลี่ยต่ำกว่ากรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อร้อยละ 1 ของ ธปท.
นอกจากนี้ อีกประเด็นที่อาจสร้างแรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. คือการแข็งค่าของค่าเงินบาท ที่แข็งค่าจากระดับสูงสุดที่ 33.28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายปีที่แล้ว ล่าสุดเหลือเพียง 31.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าปัจจัยที่กำหนดแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะยาวจะเป็นดุลการค้าและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าดอกเบี้ยนโยบายเป็นปัจจัยที่สามารถกระทบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในระยะสั้นได้เช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่สถานะด้านต่างประเทศของไทยแข็งแกร่งโดยมีบัญชีเดินสะพัดสุทธิเกินดุลรวมกว่า 3.77 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีที่ผ่านมา อีกทั้ง เงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็อยู่ในระดับสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 10 เดือนของมูลค่าการนำเข้า ดอกเบี้ยนโยบายที่สูงขึ้นอาจดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศเข้าตลาดการเงินไทยกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้
แต่ไม่ว่า ธปท. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ ความผันผวนของค่าเงินบาทในปีนี้ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ทั้งจากประเด็นสงครามทางการค้าที่จะกระทบดุลการค้าและความสามารถในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการเคลื่อนย้ายเงินทุนต่างประเทศที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักลงทุนรวมถึงผู้ประกอบการจึงควรเตรียมรับมือกับความผันผวนดังกล่าวและทำการป้องกันความเสี่ยงค่าเงินด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม
ปัจจัยต่างประเทศรุ่มเร้า เบรก กนง. ขึ้นดอกเบี้ย
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ย นโยบายที่ระดับร้อยละ 1.75 ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 19 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา
พร้อมกับรวบรวมประเด็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจที่อาจจะมีนัยต่อการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. ดังนี้
ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีสัญญาณชะลอลง คงส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินติดตามประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ แม้ว่าในภาพรวมของการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะยังคงสอดคล้องกับการเติบโตตามศักยภาพ แต่คงต้องยอมรับว่าโมเมนตัมการการขยายตัวที่เริ่มแผ่วลงลงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561คงเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ กนง. คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดอีกระยะ เพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่คงจะมีความชัดเจนขึ้นในระยะข้างหน้า ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินครั้งต่อไป
ขณะที่ต้องยอมรับว่าปัจจัยความไม่แน่นอน ที่เข้ามากระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้นมาจากปัจจัยภายนอก อันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ยากทั้งการส่งออกที่ชะลอตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศส่งออกหลักของโลกรวมทั้ง
ปัจจัยชั่วคราวจากการปรับลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยในประเทศยังพบว่า การใช้จ่ายครัวเรือนยังโตได้ในระดับสูง ส่วนหนึ่งมาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนที่ยังโตต่อเนื่อง ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ประเด็นต่อมาคือ สภาวะตลาดการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยจะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้สถาบันการเงินไทยยังไม่ได้มีแรงกดดันในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่น่าจะมีการปรับขึ้นในระยะอันใกล้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางและยาวปรับลดลงเล็กน้อย อันเป็นผลจากที่เฟดส่งสัญญาณถึงความอดทนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากขึ้น
ดังนั้น สภาวะการดำเนินนโยบายการเงินของไทยยังคงเป็นไปอย่างผ่อนปรนและยังช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอยู่
มองไปข้างหน้า กนง. จะให้น้ำหนักการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยตามสถานการณ์ของเศรษฐกิจ (data dependent) ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับจำกัด น่าจะช่วยให้ กนง. ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะอันใกล้
รวมถึงต้องยอมรับว่ามุมมองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ยังคงเผชิญกับปัจจัยไม่แน่นอนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงภายนอกจากความไม่แน่นอนด้านการค้า และค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกครั้ง
อีกทั้งเรื่องข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจจะไม่ได้ข้อยุติที่เป็นรูปธรรมก่อนวันที่ 2 มี.ค. 2562 เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายยังคงมีมุมมองที่แตกต่างกันค่อนข้างมากในการคลายความขัดแย้ง ทำให้สินค้าส่งออกจากจีนไปยังสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าเป็นร้อยละ 25 หรือในกรณีที่การเจรจาการค้ามีความก้าวหน้าสหรัฐฯ พอประมาณ สหรัฐฯ อาจจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่ระดับร้อยละ 10 จนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้า
ประเด็นเหล่านี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าแรงกดดันต่อการส่งออกไทยน่าจะคงมีอยู่ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าจากปัจจัยพื้นฐานเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่แข็งแกร่ง รวมทั้ง การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเพิ่มเติมที่เข้ามากระทบภาคต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออก ทำให้ กนง. ติดตามและประเมินภาพเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด
พร้อมกับคาดว่า ปัจจัยความไม่แน่นอนจากภา���นอกประเทศจะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงปลายไตรมาส 2/2562 ซึ่งน่าจะเห็นทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยชัดขึ้น หากเศรษฐกิจไทยยังสามารถรักษาการเติบโตได้ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพที่ประมาณร้อยละ 4 ตามที่ได้ประเมินไว้ กนง. อาจจะพิจารณาโอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง ซึ่งน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แต่หากความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงินตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.75 ตลอดทั้งปี 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :