ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแจงค่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่าเพราะดอกเบี้ยนโยบายปรับขึ้นเมื่อปลายปีก่อน แต่เกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในหนุน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยถึงกรณีอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอ้างอิงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นในช่วงนี้ ว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ อาทิ

1) การเลือกตั้งครั้งล่าสุด สภาล่างของสหรัฐฯ จากพรรคริพับลิกัน ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ครองเสียงข้างมาก ก็ตกมาเป็นของพรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคเดโมแครต ทำให้นโยบายต่างๆ ล่าช้ากว่าที่กำหนด ส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

2) ตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับปัญหาภายในอย่างการหยุดงานประท้วง ซึ่งนับว่าเป็นการหยุดงานประท้วงครั้งที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อมูลค่าของสกุลเงินสหรัฐฯ ในระยะสั้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในไตรมาสที่ 1 ของสหรัฐฯ ซึ่งจะไปส่งผลกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว

3) ประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยังคงเป็นปัญหายืดเยื้อที่แก้ไม่ตกและส่งผลกระทบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน แม้ขณะนี้จะมีการพูดคุยกันอยู่ระหว่างสองรัฐบาลแต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก

หากนำผลกระทบข้างต้นมาพิจารณากับค่าเงินบาท จะพบว่า สกุลเงินบาทซึ่งอยู่ในตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ถือว่ามีการแข็งตัวปานกลาง หากนำไปเทียบกับสกุลเงินรูเบิลของรัสเซีย

เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ดันเงินบาทแข็ง

นายวิรไทชี้ให้เห็นถึงอีกปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่า คือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศ ตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2561 อยู่ที่ประมาณ 37,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท โดยมากจากการเกินดุลการค้า 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.21 แสนล้านบาท และ การเกินดุลการท่องเที่ยว 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 4.39 แสนล้านบาท

สำหรับความกังวลว่าการแข็งค่าของเงินบาทมาจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย นายวิรไทชี้ว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากปัจจุบันประเทศไม่ได้เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้า

เมื่อดูจากตัวเลขการขายพันธบัตรสุทธิปัจจุบันอยู่ที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การซื้อหุ้นอยู่ที่ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้แท้จริงแล้วประเทศติดลบอยู่ที่ราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อีกทั้งดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังต่ำกว่าสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านอยู่มาก โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อยู่ที่ร้อยละ 6


“อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยถึงแม้เราปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.75 ก็ยังต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกาที่อยู่ที่ร้อยละ 2.5 อยู่ดี” นายวิรไท กล่าว

นายวิรไทกล่าวว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ควรมาหารือกันไม่ใช่การหาวิธีคงอัตราแลกเปลี่ยนแต่เป็นการสร้างความพร้อมรับมือกับความผันผวนที่จะเกิดขึ้น

โดยต้องทำทั้งในแง่ของเศรษฐกิจมหภาคให้มีการลงทุนของภาครัฐที่มากขึ้น โดยขณะนี้เงินบาทแข็งค่าอยู่ เป็นโอกาสดีในการนำเข้าสินค้าเพื่อการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สำหรับภาคธุรกิจนั้น นายวิรไทแนะนำว่า ภาคธุรกิจในไทยควรเปลี่ยนมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อขายสินค้ากับต่างประเทศให้มากขึ้น เพราะการพึ่งพิงแต่สกุลเงินใหญ่อย่างดอลลาร์สหรัฐฯ ต้องแบกความเสี่ยงด้านความผันผวนมากกว่าใช้สกุลเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :