ไม่พบผลการค้นหา
ธปท. ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปีนี้โตร้อยละ 3.8 'ผู้ว่าแบงก์ชาติ' มองไม่ว่าพรรคใดขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐกิจประเทศจะเดินหน้าต่อ เพราะโครงการขนาดใหญ่ประมูลเสร็จหมดแล้ว ย้ำจัดตั้งรัฐบาลได้ไวยิ่งส่งผลดี

ผ่านมากว่าสัปดาห์หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม ประเทศไทยก็ยังไม่สามารถหาคำตอบได้อย่างแน่ชัดว่าฝ่ายไหนจะขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาล แม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมาแล้ว

สถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน นอกจากจะสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนในประเทศแล้ว นักลงทุนจากต่างประเทศก็มีความอึดอัดใจไม่แพ้กัน ด้วยเงื่อนไขของสถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งที่นักลงทุนต้องการทราบเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นคือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีเสถียรภาพ แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยจะยังไปไม่ถึงจุดนั้น

วิรไท สันติประภพ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้ว่า ก็ยังถือเป็นเรื่องดีที่ประเทศได้มีการเลือกตั้ง แม้ว่าสถานการณ์ยังมีความคลุมเครือในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ก็ไม่น่าส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศมากนัก เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบกับการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศมากกว่าการเมือง

โดยเฉพาะเมื่อดูที่ตัวนโยบายแล้ว ไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นผู้นำตั้งรัฐบาลก็จะไม่มีความแตกต่างเรื่องของการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมากนัก เพราะโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการก็อยู่ในระยะที่ประมูลเสร็จหมดแล้ว และเชื่อว่าไม่ว่าฝ่ายใดเข้ามาบริหารประเทศ ก็จะเดินหน้าเรื่องโครงการขนาดใหญ่แน่นอน

แจงปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2562 เพราะปัจจัยใน-นอกประเทศรุมเร้า

สำหรับตัวเลขอัตราการขยายทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประจำปี 2562 ธปท. ปรับลดลงประมาณการมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 4.0 จากความกังวลเรื่องปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่มีผลกระทบกับประเทศไทยหลักๆ ได้แก่

(1) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทำให้เกิดการขึ้นกำแพงภาษีีที่กระทบทั้งในด้านดีและร้ายกับไทย

(2) การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของจีน เรื่องการควบคุมดูแลธนาคารเงา ซึ่งอาจส่งผลให้ธุรกิจของจีนในหลายอุตสาหกรรมขาดสภาพคล่องและกระทบกับอุตสาหกรรมส่งออกของไทย

(3) การไม่มีข้อยุติของเบร็กซิต ที่แม้จะไม่กระทบเรื่องการส่งออกของไทยโดยตรง แต่จะไปกระทบตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก

"ปีนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยประมาณการเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4 ที่เคยประเมินไว้ โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก และในช่วงที่เหลือของปี ต้องติดตามใกล้ชิด เพราะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และมีความเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น สงครามการค้า การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีน การขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรป ส่วนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยที่ต้องจับตาดูคือ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ แต่ถ้าดูปัจจัยพื้นฐานต่างๆ ก็มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ทั้งการบริโภคและลงทุนของเอกชน ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้เร็ว ก็จะทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ทิศทางการขยายตัวของภาคเอกชนที่ต่อเนื่องมา ก็จะขยายตัวต่อได้ดีขึ้น" นายวิรไท กล่าว

ล่ารายชื่อถอดถอน กกต. อนุสาวรีย์ชัยฯ

ด้านปัจจัยในประเทศที่อาจส่งผลลบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ มาจากการส่งออกที่มีแนวโน้มจะยังชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่นำไปสู่ความรุนแรงหรือความขัดแย้งที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก ก็อาจกล่าวได้ว่าการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในปัจจัยบวกร่วมกับการท่องเที่ยวที่มาพยุงเศรษฐกิจไทยไว้

หนี้ครัวเรือนสูง-ราคาสินค้าเกษตรตก-ค้าออนไลน์รุก ปัจจัยฉุดมู้ดเศรษฐกิจไทย

แม้ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดต่อกันร้อยละ 4 อย่างต่อเนื่อง แต่กลับขัดกับความรู้สึกของประชาชนที่มองว่าเศรษฐกิจไม่ได้ดีเท่าไหร่

ในประเด็นนี้ นายวิรไท กล่าวว่า สาเหตุหลักมาจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบ 10 ปี ประกอบกับที่ผ่านมา ภาคเกษตรกรรมประสบปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อลดลง

อีกหนึ่งปัจจัยที่กระทบกับสภาพคล่องของธุรกิจและผู้ประกอบการรายย่อย คือเทคโนโลยีที่เข้า โดยเฉพาะธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้ประกอบการไทยไม่ได้แข่งกับคู่แข่งแค่ในประเทศเท่านั้น แต่กำลังแข่งกับคู่แข่งจากทั่วโลก จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะเสียลูกค้าจำนวนหนึ่งไปหากไม่มีการปรับตัว

ย้ำผู้ประกอบการปรับตัว รับความเสี่ยงใหม่

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงในตอนนี้ คือการบริหารความเสี่ยงต่างๆ ทั้งการกระจายคู่ค้า การหาตลาดใหม่ รวมทั้งความเสี่ยงเรื่องสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ใช้เป็นสกุลเงินค้าขายกลาง โดยแนะให้ผู้ประกอบการหันมาใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการทำการค้าขายเพิ่มขึ้น


“ในโลกข้างหน้ามีความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้น เรื่องการบริหารความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องสำคัญ” นายวิรไท กล่าว

ส่วนมาตรการการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการประกาศตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (1 เม.ย.)

นายวิรไท ย้ำว่า มาตรการนี้จะไม่มีผลกระทบกับผู้ที่ซื้อบ้านเป็นหลังแรกอย่างแน่นอน เพราะมาตรการมีไว้เพื่อป้องกันการเกิด 'สินเชื่อเงินทอน' ที่ผู้เก็งกำไรนิยมกันในช่วงที่ผ่านมา และก่อให้เกิดอุปสงค์เทียมซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งยังพูดถึงการเข้าไปมีบทบาทในมาตรการควบคุมทั้งสินเชื่อบัตรเครดิตในส่วนของดอกเบี้ยและสินเชื่อรถยนต์เพื่อไม่ให้เป็นการส่งเสริมให้เกิดหนี้ครัวเรือนรวมที่หนี้เสีย (NPL) มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :