ไม่พบผลการค้นหา
'ส.ว.กิตติศักดิ์' เผย ส.ว. เตรียมนัดคุยความเห็น 10-11 ก.ค. ก่อนวันโหวตนายกฯ ท้า 'พิธา' ไปรวมเสียง ส.ส.พรรคอื่นให้ได้ ไม่ต้องพึ่งมือ ส.ว. ย้ำชัดถ้า 'ก้าวไกล' ไม่ลดเพดานแก้ ม.112 มีแต่อุปสรรค

วันที่ 6 ก.ค. กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ความเห็นกรณีที่ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เปิดเผยไทม์ไลน์การโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. หาก พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โหวตไม่ผ่านครั้งแรก อาจเสนอให้โหวตเลือกนายก ฯอีกครั้ง 

โดย กิตติศักดิ์ ระบุว่า ตนเองไม่ขอออกความคิดเห็นเพราะ เป็นอำนาจของประธานสภาฯ ใครจะไปก้าวก่ายไม่ได้ เรื่องนี้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ว่าที่ประธานสภาฯ ก็เคยให้สัมภาษณ์ย้ำไปแล้วว่าหากโหวต พิธา รอบแรกไม่ได้ ก็ต้องไปปรึกษาพรรคร่วมรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

  "ในขณะ ส.ว. ทำได้แค่นั่งหายใจดูเขา เพราะเป็นเรื่องของ ส.ส ดำเนินการอย่างไร หากประธานสภาฯ เสนอชื่อมา ส.ว.ก็จะใช้มาตรา 272 ซึ่งเป็นอำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ เพราะหน้าที่ ส.ว. คือตรวจสอบผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระหรือนายกรัฐมนตรี" กิตติศักดิ์ กล่าว 

ส่วน พิธา จะผ่านด่าน ส.ว.หรือไม่ กิตติศักดิ์ กล่าวว่า ทำไมไม่ไปชวนพรรคอื่นมายกมือโหวตให้ จะได้ไม่ต้องมายุ่งเกี่ยวกับ ส.ว. พรรคภูมิใจไทยก็ตั้ง 70 เสียงทำไมไม่ไปเอามา

กิตติศักดิ์ ย้ำว่า ตราบใดที่เพดานการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกลไม่ลด ก็คงยาก เพราะตัวเองทำตัวเอง ส.ว.ก็ตรวจสอบทุกพรรคการเมือง พรรคไหนที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศชาติ โดยเฉพาะสถาบันต่างๆ และมีนโยบายอีกหลายอย่างที่กระทบกับองค์กรและสถาบัน พิธา และผู้อยู่เบื้องหลัง ก็ใช้หาเสียงจนชนะเลือกตั้งมาแล้วหากจะกลับคำไม่แห้ไม่แตะมาตรา 112 จะกลายเป็น “ไม่แก้ ไม่มีกู”อีก 

"และผมก็ไม่เชื่อว่า พิธา และพรรคก้าวไกลจะลดเพดานเรื่องนี้ลงได้ เพราะเห็นพฤติกรรมตลอดหลายปีของ พิธา ได้แสดงออกให้เห็นชัดเจน แต่จะมาพูดวันเดียวว่า ไม่เอา ไม่แก้ จึงเป็นไปไม่ได้ ไม่เชื่อเด็ดขาด"

เมื่อถามว่าได้หารือในกลุ่ม ส.ว.ถึงแนวทางที่จะโหวตในวันที่ 13 ก.ค. นี้อย่างไร กิตติศักดิ์ กล่าวว่า แน่นอน ส.ว.ได้คุยและหารือกันตลอด แต่ไม่มีธงว่าจะออกมติอย่างไร ทุกคนมีความรู้สึกใกล้เคียงกันว่าพรรคก้าวไกล พิธา และผู้อยู่เบื้องหลัง ไม่สมควรเป็นรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายซ่อนรูปในการนิรโทษกรรม

ในขณะที่พรรคเพื่อไทยก็อ้อมแอ้มไม่ชัดเจนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย นี่คือสิ่งที่ตนเองไม่ไว้ใจ พิธา และผู้อยู่เบื้องหลังพรรคก้าวไกล และเชื่อว่า ส.ว.ทุกคนมีวัยวุฒิและคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ แต่อาจจะยกเว้นตนเอง คนอื่นอาจจะมองออกว่าควรจะสนับสนุน พิธา หรือไม่

ส่วนแนวโน้มในการโหวตนายกฯ ส.ว.ส่วนใหญ่จะงดออกเสียงมากกว่า และคงมีบ้างบางคนที่จะสนับสนุน พิธา แต่หลังจากรัฐพิธีเปิดสภา จะเห็นปรากฏการณ์ จากการที่ ส.ว.เป็นต้นคิดที่จะให้ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีกันสดๆ จะเห็นว่า ส.ว. ทุกคนร้องเพลงนี้กันอย่างพร้อมเพรียง จึงคิดว่าวันนั้นเป็นจุดที่จะชี้ว่า ส.ว. คนไหนที่จะยกมือสนับสนุน พิธา ที่ต้องการแตะต้องสถาบันตลอด ได้ถอย 

กิตติศักดิ์ยังเผยว่า ส.ว.จะมีนัดพบปะพูดคุยกัน อย่างไม่เป็นทางการ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในวันที่ 10-11 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะถึงวันลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค.