วันที่ 18 ต.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย ในงานเสวนา ‘เพื่อไทย ประกาศสงครามยาเสพติด เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า’ โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า โศกนาฏกรรมที่ จ.หนองบัวลำภู เป็นจุดกระตุ้นใหญ่ที่พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องประกาศต่อสาธารณชนว่า เราจะทำสงครามกับยาเสพติด โดยจะนำเอาแนวคิดที่เคยดำเนินการในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นพ.ชลน่าน ระบุว่า โดยยังคงหลักการเดิมคือการนำมิติเชิงสังคมมาช่วยกันดูแลคนในสังคม ภายใต้การคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และกรอบของกฏหมาย แม้แนวทางดังกล่าวจะถูกกล่าวหาโจมตีมาโดยตลอด เช่น "วาทกรรมฆ่าตัดตอน" ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้เกิดจากผู้กำกับนโยบายเป็นผู้ดำเนินการ แต่เป็นกระบวนการทางสังคม จึงยืนยันว่าไม่มีนโยบายฆ่าตัดตอนเกิดขึ้น
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้ทุกองค์กร อย่าหลงเข้าใจผิดกับวาทกรรมดังกล่าวนี้ เพราะอาจถูกมองว่าเป็นการเข้าข้างเปิดทางให้ผู้ใช้ยาเสพติดแสวงหาผลประโยชน์จากวาทกรรมนี้ได้ เพราะศัตรูร้ายของการแพร่ระบาดของยาเสพติด คือ ผลประโยชน์
ทั้งนี้หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจะทำสงครามกับยาเสพติด โดยจะดำเนินการใน 5 ส่วน ได้แก่
1.ปราบปรามการใช้ยาเสพติดด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด เข้มข้นบนหลักแห่งความจริง ไม่ใช้กฎหมายที่ล้นเกิน
2.นำบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เสพไปบำบัดฟื้นฟู ให้กลับสู่สังคมได้ ผู้เสพคือผู้ป่วย ต้องได้รับการบำบัด รักษา ฟื้นฟู โดยต้องแยกผู้ป่วยตามประเภทของยาเสพติดอย่างชัดเจนว่า ติดยาเสพติดประเภทใด ต้องได้รับการบำบัดที่แตกต่างกัน
3.มาตรการป้องกัน และการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รู้จักโทษและพิษภัยของยาเสพติด รวมทั้งการใช้กลไกชุมชนเข้มแข็ง ‘บวร’ (บ้าน วัด โรงเรียน) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน จับมือกันเป็นสถาบันชุมชนที่เข้มแข็ง ใช้มาตรการทางสังคมช่วยกันปกป้องลูกหลานและคนในสังคม
4.มาตรการขอความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปราม เพราะกระบวนการผลิตยาเสพติดขณะนี้มี 7 บริษัทแย่งกันผลิตป้อนเข้ามา กำลังการผลิตมหาศาล ต้นทุนการผลิตต่ำเม็ดละ 4-7 บาท
5.ยาเสพติดเป็นเรื่องของทุกภาคส่วนในสังคม ต้องประสานงานบูรณาการร่วมกันป้องกัน
นพ.ชลน่าน ยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำกรณีโศกนาฏกรรม จ.หนองบัวลำภู และกรณีการแพร่ระบาดของยาเสพติด เข้าสู่ญัตติด่วนต่อสภา ในวันที่ 3 พ.ย. 2565 ซึ่งจะมีการเปิดโปงข้อมูลว่าใครเกี่ยวข้องกับกระบวนยาเสพติดบ้าง
ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน กล่าวว่า พรรคไทยรักไทย จนมาถึงพรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย เริ่มต้นแก้ไขปัญหายาเสพติดจากศูนย์และทยอยแก้ไข แต่สถานการณ์ในขณะนี้ต้องเริ่มต้นแก้ไขปัญหาจาก 10 แม้รัฐบาลโดยการนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศอย่างชัดเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาว่าจะเข้ามาวางรากฐานสังคม เศรษฐกิจและการเมือง แต่ผ่านมา 4 ปี สถานการณ์หนักกว่าเดิม รวมถึงการแพร่ระบาดของยาเสพติด แต่ที่ร้ายแรงกว่ายาเสพติดประเภทอื่นคือ การเสพติดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เอง
สำหรับวิธีการแก้ไขปัญหายาเสพติด คือรัฐบาลต้องตัดวงจรที่เรียกว่า ‘ของชนของ’ จับกุมผู้ค้าและผู้เสพที่มียาเสพติดให้ได้ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงรู้ดี ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องลงทุนเครื่องเอกซเรย์ยาเสพติดที่ได้มาตรฐาน ประจำตามจุดพรมแดนระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการลำเลียงยาเสพติดเข้าสู่เมือง ทั้งนี้หากรัฐบาลยังเมินเฉยไม่แก้ไขปัญหา มีความกังวลว่าจะมีคนตายเป็นล้านคนก็เป็นได้
ทั้งนี้การที่พรรคเพื่อไทยประกาศทำสงครามกับยาเสพติด ต้องหาจุดต่างและจุดยืนร่วมกัน ระหว่างคนและนโยบาย รวมทั้งกระบวนการในมิติเชิงสังคมในระดับชุมชนมีความสำคัญมาก ที่ผ่านมาการทำสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาลไทยรักไทยและพลังประชาชน มีแต่คนชื่นชม เพราะมีทั้งหมู่บ้านสีขาว หมู่บ้านปลอดยาเสพติด เป็นต้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ สถิติยาเสพติดลดลงอย่างมีนัยยะ เพราะไม่มีการจับกุมที่มากพอ
“มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน คือ ประชาชนจนมั่นคง คนในคณะรัฐมนตรีมั่งคั่ง และรักษาเก้าอี้อย่างยั่งยืน ผ่านมา 8 ปีแห่งความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหายาเสพติด เพราะรัฐบาลเสพติดอำนาจ คนจนจะตายอยู่แล้วจึงต้องพึ่งเสพยาเสพติด หากเศรษฐกิจดี ทุกอย่างจะดีตาม ประชาชนไม่มีภาวะเครียด ฝ่ายตำรวจมีความเข้มแข็ง ทุกคนมีความสุขกับการใช้ชีวิต หากพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล เราจะเร่งสปีดในที่บ้านเมืองติดลบแล้วใส่เกียร์เร่งทันที” จิรายุ กล่าว
ด้าน มนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหายาเสพติด มีทั้งในมิติทางกฎหมายและมิติทางสังคม ในทางกฎหมายนั้น ในยุค คสช. รวบกฎหมายยาเสพติด 24 ฉบับรวมเหลือแค่ 2 ฉบับ กลายเป็นช่องว่างให้ผู้ค้ายาเสพติดที่มียาเสพติดในปริมาณน้อย กลายเป็นผู้เสพยาเสพติดและให้ส่งตัวไปบำบัด เจ้าหน้าที่บ้านเมืองถือโอกาสนี้แบล็คเมล์เอาเงินทองจากผู้ค้าเพื่อให้หลุดรอดจากคดีความ
ส่วนในเรื่องการครอบครองอาวุธปืนนั้น ทุกวันนี้ฝ่ายปกครองเปิดช่องครอบครองพกพาอาวุธปืนได้ กลายเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครูผู้ช่วย ครูพี่เลี้ยง อสม. พกปืนได้ทั้งหมด และยังพกกระสุนคนละ 30-41 นัด เสมือนกับมีคลังแสงพกติดตัวพร้อมใช้ได้อีกเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด
จุฑาพร เกตุราทร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางรัก สาทร ปทุมวัน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ บางรัก สาทร ปทุมวัน พี่น้องประชาชนร้องเรียนมาว่าลูกหลานติดยาเสพติด ไม่เว้นแม้กระทั่งกลางเมือง ยาบ้ามีราคาถูกลง กลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงยาเสพติดได้ง่ายและเสพเพิ่มขึ้นได้ในปริมาณมาก เกิดอาการคลั่งยาหลอนยา
ซึ่งช่องทางพรมแดนไทย เมียนมา ระยะทาง 2,000 กิโลเมตร กลายเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการลำเลียงยาเสพติด แต่คำถามคือกำลังเจ้าหน้าที่ในการตรวจตรามีเพียงพอหรือไม่ และตรวจสอบปราบปรามการเข้าเมืองทางพรมแดนนั้นดีพอหรือยัง
จุฑาพร มองว่า กระบวนการที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของยาเสพติด ส่วนหนึ่งมาจากการเรียกเก็บส่วยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในสถานบันเทิง เพื่อนำเงินไปโยกย้ายซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งเรื่องนี้ต้องได้การตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรัฐบาลโดยด่วน สำหรับทางออกคือการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตามชายแดน และศูนย์ปฏิบัติการต่างๆ ในการปราบปรามยาเสพติดที่มีอยู่นั้นทำหน้าที่ได้ดีพอแล้วหรือไม่ หน่วยงานด้านการศึกษา ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ต้องให้ความรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติดมากขึ้นด้วย