บนเวทีเสวนา "ตอบโจทย์อุตสาหกรรมไทย" ซึ่งจัดโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ สอท. เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากการสื่อสารกับเหล่านักอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ถึงขนาดกลางขนาดย่อมในเรื่องนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆ
ทั้ง 5 พรรคการเมืองที่ขึ้นเวทีนี้ ได้รับโจทย์ว่า "ห้ามพูดเรื่องการเมือง" และ ให้บอกด้วยว่า "สิ่งที่จะทำภายใน 100 วันแรกหลังเข้าเป็นรัฐบาลคืออะไร"
'ปชป.' เน้นเติมกำลังซื้อเกษตรกร-แรงงาน- คนจน ปักธง 99 วันทำได้จริง
'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และแคนดิเดตนายกฯ บอกว่า ไม่ต้องให้ถึง 100 วัน ประชาธิปัตย์มีแผนอยู่แล้ว ภายใน 99 วัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือเติมกำลังซื้อให้คนส่วนใหญ่ 3 กลุ่มหลัก
ส่วนที่สองที่ทำได้เลย คือ เรื่องกฎหมาย ไม่ต้องเสียเวลาเอ็กซเรย์ สแกน เพราะตนว่างงานมา 5 ปี พรรคประชาธิปัตย์ศึกษาไว้แล้ว ทำได้เลย
รวมถึงเรื่องการต่างประเทศ เนื่องจากในเดือนมิ.ย. นี้ประเทศไทยจะเป็นประธานประชุมสุดยอดอาเซียน เราต้องใช้สถานะประธานอาเซียนต่อรองในระดับภูมิภาค ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนตระหนักถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียน แล้วเดินเกมธุรกิจในระดับโลก เช่น อาเซียนต้องคุยกับจีนอย่างเป็นระบบ ในนามของอาเซียนในเรื่องหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง รวมถึงอำนาจของอาเซียนที่จะไปต่อรองกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ที่ได้เงินจากเรามากมายแต่ไม่ต้องเสียภาษีให้เรา เรื่องนี้ประเทศไทยสู้คนเดียวยาก จึงต้องใช้สถานะของอาเซียนไปเจรจาให้บริษัทเหล่านี้คืนเงินกลับมาที่ภูมิภาคนี้
'พลังประชารัฐ' ย้ำสิ่งแรกที่ต้องทำคือบ้านเมืองต้องสงบสุข
'สุวิทย์ เมษินทรีย์' รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือ บ้านเมืองสงบสุข เพราะถ้าไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง มันย่อมนำมาสู่ความไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
เรื่องต่อมา คือทำเรื่องทั้งระยะสั้นและระยะยาวคู่กัน โจทย์ที่ซีเรียสที่สุดคือ การลดความเหลื่อมล้ำไปพร้อมกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวลาเดียวกัน ดังนั้น จึงแบ่งการดำเนินการในคน 3 กลุ่ม
"สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่ใน 100 วันแรกของพรรคพลังประชารัฐจะทำทั้งหมด ขณะเดียวกัน เราจะมีสัญญาประชาคมออกมาด้วยว่า อะไรที่เราจะไม่ทำ และอะไรบ้างที่เราจะทำ" รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าว
'เพื่อไทย' เร่งเติมกำลังซื้อ ไม่ต้องใช้เงินมาก ไม่ต้องรอลงทุน
'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย และแคนดิเดตนายกฯ กล่าวว่า จะทำสิ่งที่ไม่ต้องรอลงทุน ไม่ต้องรอการก่อสร้าง นั้นคือการทำให้เกิดกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ และปัญหาใหญ่ ทั้งที่จีดีพีเติบโตร้อยละ 4.1 แต่รายได้ประชากรไทยต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ยิ่งถ้าไปรายภาครายเซคเตอร์ยิ่งตกใจ เพราะคนกลุ่มหลักของประเทศไม่มีรายได้มาจับจ่ายใช้าสอย ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เกษตรกรแย่ ตามตลาดในทุกจังหวัดซบเซาเงียบไปหมด โรงงานก็บ่นว่าเจ๊ง ต้องลดกำลังการผลิต คนงานก็อยู่ไม่ได้
ดังนั้น กลไกแรก คือ เติมกำลังซื้อให้คนกลุ่มหลักคือ เกษตรกร ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีเป้าหมายเพิ่มราคาสินค้าเกษตร โดยไม่ใช้เงินของรัฐมาก เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าว สิ่งที่จะทำคือ ตัดเสือนอนกินก่อน ซึ่งในที่นี่คือรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ เช่น ปตท. กฟผ. ที่ไม่ยอมซื้อพืชเกษตรเหล่านี้ ดังนั้นใน 100 วันแรก คือให้ ปตท. กฟผ. ซื้อพืชพลังงาน (มัน อ้อย) มาทำไบโอดีเซล และ เอทานอล ซึ่งไม่ต้องใช้เงิน ถ้าเราเป็นรัฐบาลเราก็สั่งเขาให้ซื้อได้ แล้วชดเชยให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ด้วยการลดการเก็บเงินเข้ารัฐให้ เป็นการแชร์กัน
"นี่คือกลไกช่วยรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ให้มาช่วยภาคอุตสาหกรรม และภาคอุตสาหกรรมก็ต้องมาช่วยเกษตรกร มันถึงจะอยู่กันได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ส่วนที่สองคือ สนับสนุนภาคอุตสาหกรรม คือหากอุตสาหกรรมใดไปทางเดียวกับรัฐบาล ก็ต้องลดภาษีให้ ต้องได้สิทธิพิเศษอุตสหกรรมเหล่านี้ให้เหมือนกับที่ในอีอีซีได้ รวมถึงปรับโครงสร้างหนี้ ให้หายใจได้ ไม่ใช่ยกหนี้ให้
อีกเรื่องที่สำคัญคือ พรรคเพื่อไทยมีแนวทางลดภาษีน้ำมัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 5.80-5.90 บาทต่อลิตร มันสูงมาก และเป็นภาระของเอกชน
'ภูมิใจไทย' ประสานพรรคร่วมรัฐบาลเร่งแก้กฎระเบียบ ทำกฎหมายเอื้อคนทำมาหากิน
'อนุทิน ชาญวีรกูล' หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และแคนดิเดตนายกฯ บอกว่า ภายในวันที่ 5 หลังจากทุกคนเข้าที่ทำงานแล้ว หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยจะเชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลทุกท่านมานั่งทานข้าวเย็นด้วยกัน แล้วนำนโยบายของแต่ละพรรคมาวางบนโต๊ะ วันรุ่งขึ้นเอาเข้าสภาฯ แล้วผลักดันออกให้หมด
อะไรที่ต้องแก้กฎกระทรวงก็ทำเลย อะไรที่ต้องแก้กฎหมาย ตรากฎหมายก็เข้าสภาฯ เลย เช่น กรณีพรรคภูมิใจจะแก้กฎเรื่องแกร็บ (Grab) ซึ่งพรรคศึกษามาแล้ว เป็นแค่กฎกระทรวงก็แก้กฎกระทรวงได้เลย หรือเรื่อง airbnb โฮมสเตท ก็แก้กฎกระทรวงได้ นี่คือการทลายกฎหมาย ลดอำนาจรัฐ
ต่อมาเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งมีจำกัด จะกู้มาแล้วมาแจก มาทำประชานิยมไม่ได้ ก็ต้องมาจัดลำดับความสำคัญ มา create demand สร้างดีมานด์ในประเทศให้ได้มากที่สุด ทำฐานให้แน่น ทำโครงการที่ซื้อของภายในประเทศ ส่วนอันไหนต้องนำเข้า ก็ต้องยกไว้ก่อน เช่น ใครๆ ก็พูดเรื่องรถไฟความเร็วสูง ซึ่งต้องใช้เงินมากถึง 3 ล้านล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้ ถ้าสามารถทำมอเตอร์เวย์ ทำทางเชื่อมให้ยานพาหนะตามวิถีที่คนไทยชอบก็ทำได้ ที่สำคัญเงินอยู่ในเมืองไทยหมด มันเมด อิน ไทยแลนด์ทั้งกระบวนการทุกขั้นตอน
แล้วเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวออกไป ถ้าภาคธุรกิจรับออเดอร์มา รู้ว่านำเข้าน้อย เขาก็รู้ว่าจะจ้างงานได้มากขึ้น
เรื่องต่อมาคือ การแก้ปัญหาพื้นฐานเพื่อทำให้คนในภาคอุตสาหกรรมประกอบกิจการได้อย่างราบรื่นที่สุด ซึ่งก็ต้องมีการปรับกลไกการกำกับดูแลของภาครัฐ ต้อง deregulate แล้วทำให้ภาครัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้ภาคเอกชนทำในสิ่งที่อุตสาหกรรมปรารถนา ภาครัฐต้องไม่เป็นตัวขัดขวางเป็นอุปสรรคของเอกชน ทลายคำว่าดุลพินิจออกให้หมด แล้วให้ราชการทำตามหน้าที่ ตรงนี้ไม่ต้องไปตรากฎหมายใหม่
'อนาคตใหม่' ชูธง 'open government data' ใช้เทคโนโลยีทลายรัฐรวมศูนย์
'พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์' ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคมีนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาทั้งทางเทคนิคและเป็นเจตจำนงค์ของพรรคการเมืองคือการสร้าง open government data ซึ่งจะทำให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ราชการ ซึ่งทุกวันนี้พวกเราทุกคนจ่ายภาษี แต่เราไม่ทราบว่า รัฐบาลนำภาษีเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์อย่างไร และเราตั้งใจจะให้ข้อมูลทั้งหมดของราชการ เช่น ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้าง บัญชีทรัพย์สินนักการเมือง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ต้องอยู่บนเวบไซต์ บนอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบที่สามารถอ่านได้ ต้องโปร่งใส ตรวจสอบ เข้าถึงได้
"นโยบายแบบนี้ ทำได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้น เพราะเมื่อนำเทคโนโลยีไปจับระบบราชการ หมายถึงจะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น อำนาจรัฐจะลดลง และงบประมาณจะลดลงด้วย เรื่องนี้จึงอยู่ที่เจตจำนงค์เท่านั้น" พิจารณ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :