ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรี ขึ้นเวทีหาทางออกของภาคธุรกิจแก้ปัญหาโลกร้อนและวิกฤตทางชีวภาพ โวมั่นใจกล้าพูดทุกเวทีทำเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนอย่างแข็งขันจริงจัง เผยการเป็นเจ้าภาพเอเปคท่ามกลางวิกฤต ท้าทายสุดตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 32 แต่จะพยายามวางตัวอย่างสมดุลเป็นสะพานเชื่อมให้ทุกฝ่ายเกิดความสมานฉันท์

ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาประจำปี GCNT Forum 2022 ในหัวข้อ “เร่งหาทางออกของภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพ” ว่า การประชุมนี้ถือเป็นโค้งสุดท้ายของการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค โดยตลอดเดือนที่ผ่านมาไทยจัดการประชุมด้านสารัตถะและการเตรียมการต่างๆ เพื่อจะผลักดันความร่วมมือทางด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคภายหลังโควิด-19 โดยหัวข้อหลักคือ "เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงการสู่สมดุล" 

IMG_20221102125707000000.jpg

โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่ไทยมุ่งผลักดัน คือการสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อมและการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งรัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ “ความมุ่งมั่นและการลงมือทำของไทย" ในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมาตนลงพื้นที่หลายแห่งเพื่อสั่งการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม รวมถึงช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย ล่าสุดก็ไปจังหวัดสิงห์บุรี โดยสิ่งสำคัญที่ได้กลับมาคือ เราต้องทบทวนว่านอกเหนือจากการรับมือภัยพิบัติ คือการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติในอนาคตได้อย่างไร เพราะสัญญาณจากภัยธรรมชาติยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า วันนี้เรายังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งต้องพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ไทยและทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง โดยประเทศไทยต้องกำหนดจุดยืนทั้งภายในและต่างประเทศอย่างรอบคอบ ซึ่งการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยท่ามกลางวิกฤตเหล่านี้ นับว่ามีความท้าทายที่สุดนับตั้งแต่ไทยร่วมก่อตั้งเอเปคเมื่อปี 2532 โดยไทยก็จะพยายามวางตัวอย่างสมดุล และเป็นสะพานเชื่อมเพื่อให้เกิดความสมานฉันท์กับทุกฝ่าย 

IMG_20221102125659000000.jpg

นายกรัฐมนตรี ยังเน้นย้ำว่า ไทยตระหนักดีว่าการลดภาวะโลกร้อนมิใช่เพื่อแก้ปัญหาภาวะวิกฤติธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย ซึ่งได้เสนอหลักการ “การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของเอเปค ที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว” พร้อมย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิดและวิถีชีวิต รวมทั้งปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจให้สมดุลและยั่งยืน

ช่วงหนึ่ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของประเทศไทย ตนสามารถพูดได้ทุกเวทีอย่างมั่นใจว่า เราดำเนินการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขันและจริงจัง ตั้งแต่ไทยประกาศเป้าหมายเมื่อปีที่แล้ว 

ประยุทธ์.jpg

ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้ำว่า การขับเคลื่อนประเด็นทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง จากความร่วมมือของทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน เพื่อให้ทุกคนจับมือก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งที่สุด 

สำหรับงานดังกล่าวมี วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ผู้นำองค์กรธุรกิจ ผู้แทนสหประชาชาติ ผู้แทนภาครัฐและภาคประชาสังคม เข้าร่วม