ไม่พบผลการค้นหา
นายกฯ ปิดห้องคุย รมต.-ทีมโฆษกฯ เกือบชั่วโมงหลังถก ครม. - ยัน 'ดอน' ถกอาเซียนแก้ปัญหาภายในเมียนมา ไม่ได้ไปตกลงอะไร-ไม่มีเอียงข้าง บอกไทยต้องลดปัญหาที่จะเป็นแรงกดดันไปยังเมียนมา เพราะจะมีผลกระทบชายแดน

วันที่ 20 มิ.ย. ภายหลังการประชุมคณะมนตรี (ครม.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ปิดห้องคุยกับรัฐมนตรีและทีมโฆษกรัฐบาล เกือบ 1 ชั่วโมง ว่า ตนก็ทำงาน ไม่ใช่คุยกันเล่นๆ ซึ่งไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะมันเป็นการทำงานของรัฐบาลในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องทำทุกอย่างให้ดีที่สุดและลดผลกระทบในทุกมิติของเรา เพราะประเทศต้องเดินหน้าซึ่งก็ต้องได้รับการดูแลมากขึ้น อาทิ เรื่องภัยแล้ง รวมทั้งได้ติดตามแผนงานโครงการต่างๆของรัฐบาล ที่มีหลายเรื่อง รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการตามกำหนดการเดิมปี 2570 

พร้อมยืนยันว่า ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลรักษาการจะทำให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดภาระในวันต่อไปกับรัฐบาลข้างหน้า และจะไม่ให้ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 ในเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยดูปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก 

ส่วนกรณีที่ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประชุมระดับรัฐมนตรีกับกลุ่มประเทศที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ดอนได้มีการรายงานผลการหารือแล้วก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เป็นการประชุมครั้งที่ 3 โดยยืนยันว่า การประชุมทั้ง 9 ประเทศ ไม่ได้ไปตกลงอะไรกับใคร แต่เป็นการเดินหน้าแก้ปัญหาในกรอบอาเซียน

ซึ่งไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะต้องระวังผลกระทบกับมาตรการของสหประชาชาติ (UN) ด้วย ฉะนั้นเมื่อเรามีชายแดนติดกัน เขาก็มีความหวังว่าไทยจะแก้ปัญหาได้มากที่สุด อย่าลืมว่าเราก็มีปัญหาเหมือนกันในเรื่องของผลประโยชน์ของชาติและประชาชน ซึ่งหากติดตามดูการสู้รบของเขาก็รุนแรงขึ้น

ก็ได้มีการหารือว่าจะลดความรุนแรงได้อย่างไรในเรื่องสู้รบตามแนวชายแดน เพราะมีประชาชนจากเมียนมาอพยพเข้ามาที่บริเวณชายแดนไทยหลายพันคน ซึ่งเราก็ดูแลตามหลักมนุษยธรรม และการป้องกันไม่ให้เกิดความอลหม่านในอนาคตก็จำเป็นต้องคุย พร้อมยืนยันว่า การพูดคุยไม่ได้มีการตกลงอะไร เพียงแต่เป็นการเสนอแนะแนวทางปฏิบัติ 

เมื่อถามว่า จะบอกทั่วโลกอย่างไรเพราะไทยถูกมองว่าเอียงไปทางเมียนมา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีการเอียง มันเอียงไม่ได้หรอก ซึ่งเราก็ปฏิบัติตามมติของ UN ส่วนมติของอาเซียนหากไม่มีความก้าวหน้าก็ต้องหาวิธีการพูดคุยเพิ่มเติม ซึ่งเราก็ต้องนำเสนอไปในอาเซียนอยู่แล้ว ไม่ใช่ไปขัดแย้งอะไรกับใคร

พร้อมขอให้เรามองผลประโยชน์ของประเทศด้วยว่า ความเสียหายจะเกิดผลกระทบอะไรบ้าง ซึ่งมี 2 มิติ แต่ในส่วนของความคิดเห็นภายนอกเราก็รับฟัง อะไรที่ปฏิบัติได้เราทำครบแล้ว แต่หลังจากนี้อาจจะมีแรงกดดันไปยังเมียนมามากขึ้น เราต้องพยายามลดปัญหาตรงนี้ให้ได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อไทยในเรื่องการค้าชายแดน รวมไปถึงเรื่องแรงงาน ไม่เช่นนั้นปัญหาการค้ามนุษย์ก็ตามมาอีก 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทุกประเทศที่มาหารือก็มีความเห็นร่วมกัน ว่าควรจะหารือในฐานะเป็นประเทศสมาชิกร่วมกัน เพื่อแสวงหาทางออกและนำไปสู่การประชุมอาเซียนครั้งต่อไป พร้อมย้ำว่า นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ เพราะหน้าที่เรารับแรงกดดันสูงมาก เรามีชายแดนติดกันกว่า 3,000 กิโลเมตร