ไม่พบผลการค้นหา
ตัดสิทธิ GSP อาจไม่กระทบส่งออกฯ มาก แต่สะท้อนชัดเรื่อง 'American First' ไม่ว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไปจะเป็นใคร ผู้ส่งออกไทยไม่ปรับตัวไม่ได้แล้ว

ยอดส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ ตลอด 9 เดือนแรกของปี 2563 ตามข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เฉียด 8 แสนล้านบาท ขยายเพิ่ม 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เท่านั้นยังไม่พอ ตลอดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบจนการค้าโลกหดตัวพร้อมเศรษฐกิจถดถอย ทว่าคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

ตัวเลขจากสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้ ก.ย.ที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกไปสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 19.7% เมื่อเทียบกับ ก.ย. 2562 มีปัจจัยสำคัญจากสินค้าประเภท เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น 100% เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋องแปรรูป ขณะที่ยอดส่งออกไปจีนเพิ่งตีตื้นกลับมาเป็นบวกเพียง 6.9% เท่านั้น ในเดือนที่ผ่านมา 

'วอยซ์' ชวนวิเคราะห์ส่งออกไทย หาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' นั่งเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 


ระบบนิเวศน์ส่งออก

ปัจจุบัน หากนับตามมูลค่าการส่งออกในคู่ค้าสำคัญของไทยช่วง ม.ค.-ก.ย.ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ครองแชมป์ตำแหน่งสูงสุดที่ 790,494.51 ล้านบาท ตามมาด้วยจีนและญี่ปุ่นในตัวเลข 691,751.60 และ 516,738.58 ล้านบาท ก่อนจะมีฮ่องกงตามหลังมาแบบห่างๆ ในลำดับ 4 ใกล้เคียงกับเวียดนาม สิงคโปร์ สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่เรียงกันมาตามลำดับ 

ขณะประเภทสินค้าส่งออกมาที่สุดช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 กระจุกตัวอยู่ในฝั่งอัญมณีและเครื่องประดับซึ่งนับรวมการส่งออกทองคำ ด้วยมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท ตามมาด้วยรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อีก 4.5 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 4.2 แสนล้านบาท ขณะที่ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้าตามมาในอันดับที่ 4, 5 และ 6 ตามลำดับ 

อุตตม ธกส.จ่ายเงินเกษตรกร
  • เกษตรกรผู้ร่วมโครงการรับเงินเยียวยาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

จากข้อมูลข้างต้น ประเด็นน่ากังวลกลับมาอยู่ในภาคเกษตรของไทย เนื่องจากสินค้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรของประเทศกลับไม่ติดยอดสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด โดยมูลค่าผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ส่งออกรวมเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลัง ทำได้ดีที่สุดในช่วงหลักหมื่นล้านบาทปลายตลอด 9 เดือนแรกของปีนี้ กระทบโดยตรงกับรายได้ในครัวเรือนเกษตรกรรมของประเทศ


America First 

ทรัมป์ - สหรัฐฯ - เอเอฟพี

เป็นที่ทราบกันดีว่านโยบายหลักของสหรัฐฯ ภายใต้ 'ทรัมป์' ในฐานะผู้นำคือการตักตวงผลประโยชน์เข้าประเทศให้ได้มากที่สุด ผ่านมาตรการ 'American First' ทั้งผ่านประเด็นสงครามการค้าที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายชี้ว่ายังมีต่ออย่างเข้มข้นแม้จะลดระดับลงจากช่วงก่อนหน้า ไปจนถึงประเด็นดุลการค้าและผลประโยชน์ระหว่างการค้าแบบทวิภาคี

กรณีล่าสุดที่สะท้อนชัดว่าประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือนโยบายการค้าของสหรัฐฯ เห็นได้จากประกาศตัดสิทธิ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มเติม 231 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธ.ค.เป็นต้นไป หลังมีการยกเลิกสิทธิ GSP ในรอบแรกซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วกับสินค้าไทย 573 รายการ (คิดเป็น 0.5% ของมูลค่าการส่งออกรวม) เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งในรายงานล่าสุดจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริการะบุชัดเจนว่า ความล้มเหลวในการเปิดตลาดนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐฯ ของไทยเป็นเหตุไปสู่การตัดสิทธิ GSP 

จริงอยู่ที่หลายฝ่ายระบุตรงกันว่า การตัดสิทธิที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกไม่มาก ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ EIC ชี้ว่า สินค้าส่งที่จะถูกตัดสิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.2% ต่อมูลค่าการส่งออกรวม และ สินค้าที่จะโดนตัดสิทธิ GSP จะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% เท่านั้น


กับดักประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ชี้ว่า หากมองกันแค่อุตสาหกรรมปศุสัตว์หมูในไทย นอกจากประเด็นหมูเร่งเนื้อแดงของสหรัฐฯ จะขัดต่อหลักกฎหมายในไทย อีกสิ่งที่ต้องยอมรับคือ หากไทยจำเป็นต้องเปิดให้มีการค้าเสรีในอนาคต ซึ่งไม่อาจเลี่ยงได้ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูในไทยจะต้องเผชิญหน้ากับภาวะต้นทุนสูงจนแข่งขันกับผู้อื่นไม่ได้ 

ประธาน สรท.ย้ำว่า หากเกษตรกรไทยยังไม่ปรับตัวเรื่องต้นทุนการผลิตและเลี้ยงปศุสัตว์ให้ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ ในอนาคตอันใกล้คงไม่อาจแข่งขันกับใครต่อได้ ทั้งนี้ กัณญภัค ย้ำว่า รัฐบาลไทยต้องเข้ามามีบทบาทในประเด็นดังกล่าวอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนเกษตรกรรมหรือการทำปศุสัตว์ขึ้นอยู่กับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งมีบริษัทรายใหญ่เป็นผู้ครองตลาด 

รูปแบบกับดักปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับสินค้าปศุสัตว์หมูเท่านั้น กับดักสินค้าส่งออกของไทยยังมีอีกมาก ทั้งในแง่ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ด้อยลงจากเงินบาทที่แข็งค่าต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งทางการค้า ไปจนถึงประเด็นด้านการขนส่ง รวมไปถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอกที่ 2

หากผลการเลือกตั้งประกาศชัดว่า ทรัมป์ ได้นั่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 จริง ไทยต้องประเมินถึงดุลการค้าที่อาจนำไปสู่การตัดสิทธิทางการค้าเพิ่มเติมและชั่งน้ำหนักกับความสามารถในการแข่งขันของเกษตรกรในประเทศ และแม้ผู้ชนะจะเป็น 'โจ ไบเดน' จากพรรคเดโมแครต มาตรการพัฒนาศักยภาพคนไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกยังจำเป็นเช่นเดียวกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;