นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 21.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ 4.0% ทั้งนี้เป็นผลมาจาก ปัญหาของสงครามการค้าที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวรวมไปถึงความมั่นคงของตะวันออกกลางส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้คำสั่งซื้อลดลง
เนื่องจากพบว่าในหลายประเทศ เช่น เยอรมนีพึ่งพาการส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย อย่างไรก็ดีเป้าหมายการส่งออกทั้งปี 2562 ยังคงตัวเลขเดิม ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ แต่สิ่งที่จะต้องทำคือการเร่งขยายตลาดเพื่อการส่งออกให้มากขึ้น หากการส่งออกจากนี้เฉลี่ยการส่งออกต่อเดือนอยู่ที่ 21,000 เหรียญสหรัฐจะทำให้การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 0%
นอกจากปัจจัยเรื่องของสงครามการค้าแล้ว ยังมีผลกระทบจากในเรื่องของราคาน้ำมันที่มีผลต่อการส่งออกในสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น น้ำมัน สัดส่วนการส่งออกถึง 4% ขอมูลค่าการส่งออกของประเทศไทย เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ สัดส่วนการส่งออก 10-11% ของมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยมีทิศทางที่ลดลง โดยพบว่าราคาน้ำมันเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาราคาห่างกันถึง 18% โดยปีนี้ ราคา 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอยู่ที่ราคา 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
รวมไปถึงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ในหลายตัวมีการปรับลดลงและการเร่งนำเข้าของจีนในสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน เป็นต้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าข้าวของไทยลดลงทั้งหมดราคาและปริมาณ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากเดือนที่ผ่านมาประเทศผู้นำเข้าเร่งนำเข้าสินค้าไปสต๊อกและค่าเงินบาทแข็งค่ายังเป็นผลกระทบอยู่
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า ปัญหาสงครามการค้าแม้ได้รับผลกระทบในหลายประเทศ แต่ไทยยังได้ผลดีในสินค้าบางตัวที่ยังสามารถส่งออกไปทดแทนได้ ทั้งในตลาดจีนและสหรัฐ แม้การส่งออกในเดือนนี้จะติดลบหากเทียบในภูมิภาคเดียวกันพบว่าหลายประเทศยังติดลบอยู่เช่นกันเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเป็นหลัก
ขณะที่การส่งออกเดือนสิงหาคม 2562 มีมูลค่า 21,915 ล้านเหรียญสหรัฐหดตัว 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 19,862 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 14.6% ส่งผลให้การค้าเกินดุล 2,053 ล้านเหรียญสหรัฐรวม 8 เดือนแรกของปีการส่งออกมีมูลค่า 166,091 ร้านเหรียญสหรัฐลดลง 0.3% การนำเข้ามูลค่า 159,984 ล้านเหรียญสหรัฐลดลง 3.6 % และการค้าเกินดุล 6,106 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัว 4.4 % สินค้าสำคัญที่ส่งออกได้ดี เช่นผัก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 26.8% น้ำตาลทราย 15.3% ไก่สด แช่เย็น และแปรรูป 5.6% ขณะที่สินค้าเกษตรที่ หดตัวได้แก่ ข้าว หดตัว 44.7% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 25.3% ยางพารา หดตัว 7.2% กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป เครื่องดื่มหดตัว 8.9% เป็นต้น
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมกลับมา หดตัว 1.9 % สินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดี เช่น อัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมทองคำ 51.1% ทองคำ 377.5% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 9.2% ขณะที่ สินค้าอุตสาหกรรมที่ หดตัวได้แก่ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน หดตัว 27.7% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 12.6% เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 10.5% เป็นต้น
"กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนผลักดันการส่งออกครึ่งปีหลังให้ขยายตัวตามเป้าหมายโดยเร่งรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ ฟื้นฟูตลาดเก่าขณะที่ การเดินทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่จะไปประเทศจีนและอินเดียต้องการให้มีการขยายตลาดและผลักดันให้มากขึ้น รวมถึงต้องการให้เข้ามาขยายตลาดในภูมิภาคเอเชียด้วย" นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว