ไม่พบผลการค้นหา
กทม. พร้อม 100% เลือกตั้ง 'ผู้ว่าฯ-ส.ก.' ฝากผู้สมัครศึกษาระเบียบปิดประกาศและป้ายหาเสียงให้ดี เชื่อจัดเลือกตั้งราบรื่น สุจริตและเท่าเทียม

ที่ศาลาว่า กทม. 2 เขตดินแดง เฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวและตรวจเยี่ยมความพร้อมในการเตรียมการรับสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม.และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม -4 เมษายน 2565 โดยมี สุพจน์ หล้าจำศิล ผู้อำนวยการสำนักงานปกครองและทะเบียน สำนักปลัด กทม. และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูลทั้งเรื่องความพร้อมและขั้นตอนสำคัญในการรับสมัคร

โดยมีการจัดสถานที่ไว้ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการ กทม.2 ทั้งสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีความพร้อม โดยแบ่ง 2 โซน ให้ผู้สมัครผู้ว่า กทม.มีผู้ติดตามเข้าพื้นที่ได้ 1 คน คาดว่ามีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ประมาณ 8-10 คน หากมีมากกว่านี้ก็มีอุปกรณ์และพื้นที่ไว้รองรับอย่างเพียงพอ ส่วนผู้สมัคร ส.ก.ทั้ง 50 เขตนั้น ให้เฉพาะเจ้าตัวเข้าโซนที่จัดพื้นที่ไว้ ไม่อนุญาตให้มีผู้ติดตาม ในส่วนผู้สมัคร ส.ก.เข้าโซนผู้สมัครรับเลือกตั้ง 

 โดยกระบวนการจะมีการคัดกรองโควิด-19 และตรวจวัตถุระเบิด ก่อนเข้าพื้นที่ตรวจเอกสาร และ 'ลงทะเบียนเวลา' ซึ่งจะเป็นหมายเลขผู้สมัครด้วย โดยทั้งผู้สมัครผู้ว่า กทม. และ ส.ก. ตั้งแต่ 08.30น.-16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการ หากมาก่อน 08.30 น. ในวันแรก ถือว่ามาถึงพร้อมกัน ถ้าตกลงลำดับที่จะส่งผลถึงเลขเบอร์กันไม่ได้ ก็ให้จับสลาก โดยจะมีเจ้าหน้าที่บันทึกตามระเบียบของ กกต. 

เฉลิมพล กล่าวว่า มีความพร้อม 100% ไม่ว่าสถานที่อุปกรณ์ติดตั้งระบบและความเข้าใจของผู้ที่จะมาสมัครรับเลือกตั้งทั้ง ผู้ว่า กทม.และ ส.ก. เชื่อว่าจะดำเนินการได้ด้วยความเรียบร้อยและสุจริตและเท่าเทียม ตามเจตนารมณ์อย่างแน่นอน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ของ กทม.ใช้เขตปกครองของ กทม.เป็นเขตเลือกตั้ง รวม 50 เขต และ ส.ก.ที่จะมีการเลือกตั้งรวม 50 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 6,862 หน่วย จากจำนวนประชากรทั้งหมด 5,523,676 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,374,131 คนข้อมูลคำนวณถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 

เฉลิมพล ขอให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งศึกษาประกาศ เรื่อง การกำหนดสถานที่ปิดประกาศและติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับเลือกตั้ง ส.ก. และผู้ว่า กทม.อย่างเคร่งครัด โดยได้กำหนดจำนวน หลักเกณฑ์ และสถานที่ปิดประกาศ รวมทั้งสถานที่ห้ามปิดประกาศไว้อย่างชัดเจนแล้ว

พร้อมยกตัวอย่างสถานที่ห้ามปิดประกาศ มีทั้ง ผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้ามและสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน เป็นต้น