ไม่พบผลการค้นหา
ทันทีที่ 'เศรษฐา ทวีสิน' ได้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566

ภารกิจแรกในการเดินหน้าทำงานทันทีในระหว่างที่กำลังรอแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ คือการลงพื้นที่ต่างจังหวัดในทันที โดยเลือก จ.ภูเก็ต เป็นที่แรก เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 ด้วยการนำทีมคณะทำงานด้านการท่องเที่ยวของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมี สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ว่าที่ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมคณะร่วมลงพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากตัวแทนภาคธุรกิจและภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยว

"การทำให้ประเทศไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาโดยง่ายด้วยความปลอดภัยไม่ว่าการเดินทางเข้าประเทศเป็นเรื่องที่เราจะต้องบริหารจัดการให้ดี โดยจะต้องพูดคุยในเรื่องของการไม่ต้องทำวีซ่าเข้าประเทศ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีความพร้อมด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต

เศรษฐา พรหมินทร์ 1214699_0.jpg

เศรษฐา ยังระบุว่า ในไตรมาส 4 เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของการท่องเที่ยวของประเทศไทย การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างจากดีที่สุดในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตนพร้อมคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยได้เดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้เวลาหารือเป็นเวลากว่า 2 ชั่วโมงกับผู้ว่าการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย ถึงปัญหาต่างๆ และยืนยันวันนี้ไม่ได้มาสั่งการ แต่มารับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปประกอบการจัดทำนโยบายของรัฐบาล

เมื่อเปิดดูนโยบายด้านการท่องเที่ยวของ 'พรรคเพื่อไทย' ที่เคยประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

โดยเน้นว่า การท่องเที่ยวคือประตูรายได้ที่ “สำคัญ” และ “รวดเร็ว” ที่สุดในการกระจายรายได้ให้ประชาชน 

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจึงตั้งเป้าหมายกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาเป็น “รายได้หลัก” ของประเทศโดยมาจาก...

  • รายได้จากการท่องเที่ยวที่พึ่งเริ่มฟื้นตัวหลังการระบาดของโรคโควิด-19 จากประมาณ 7 แสนล้านบาท ในปี 2565 เป็น 3 ล้านล้านบาทในปี 2570 เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปทุกพื้นที่ตั้งแต่พี่น้องเกษตรจนถึงคนทำงานในโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร กิจการขนส่งต่างๆ 
  • วางตัวให้เป็น “Festival Hub of Asia” โดยการสร้างเทศกาลไทยให้ไปถึงระดับโลก เช่น เทศกาลสงกรานต์เดือน เม.ย. เทศกาลลอยกระทงเดือน พ.ย. เทศกาลสินค้าเกษตร เทศกาลแข่งขันมวยไทย และ ดึงเทศกาลระดับโลกมาจัดในประเทศไทย เช่น เทศกาลดนตรี เทศกาลศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชื่อเสียงต่างๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเข้าประเทศในทุกภาคส่วน ในขณะเดียวกันเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมระดับโลก 
  • เน้นการสร้างประสบการณ์ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและเสน่ห์ความเป็นไทยให้ได้มากที่สุด
  • พัฒนาประเทศไทยให้เป็น Regional transport hub ทั้งในด้านผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าทางอากาศ จัดตารางการบินให้มีประสิทธิภาพเชื่อมต่อสายการบินเพื่อให้สายการบินจากทั่วโลกมาต่อเครื่องที่ไทย 
  • ยกระดับสนามบินนานาชาติให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวจำนวน 120 ล้านคนและปริมาณการขนส่งสินค้า cargo จำนวน 3 ล้านตันภายในปี 2570 
  • เร่งพัฒนาการจัดการอำนวยความสะดวกในทุกๆด้าน ลดกระบวนการการตรวจเอกสารให้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางเข้าออกที่สนามบินนานาชาติให้มากขึ้นสำหรับทั้งชาวไทยและต่างชาติ คิวไม่ยาว กระเป๋าไม่หาย ไม่โดนแท๊กซี่โกง
  • เจรจากับประเทศต่างๆ เพื่อปลดภาระในการขอวีซ่าเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและยกระดับหนังสือเดินทางไทยให้สามารถเดินทางไปทั่วโลก 
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวทางด้านการแพทย์และสุขภาพมุ่งทำให้ประเทศไทยเป็น “Wellness Destination” ของเอเชีย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินและความรู้ พัฒนาและเพิ่มทรัพยากรทางบุคคลากรทางการแพทย์เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขให้เพียงพอและทันสมัย สนับสนุนอุตสหกรรมอาหารเกษตรเพื่อสุขภาพ สมุนไพรและแพทย์ทางเลือก
เศรษฐา สุดาวรรณ ภูเก็ต IMG_1536.jpeg

อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจดูเม็ดเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 พบว่างบประมาณรายจ่ายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปี 2566 ตั้งงบฯ ไว้ 5,295 ล้านบาท 

โดยมีพันธกิจ ส่งเสริมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่่ยวและกีฬาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน พัฒนาศักยภาพบุคลากรและภาคีเรือข่ายทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา ส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้นวัตกรรมและการจัดการความรู้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและกีฬา

ทั้งนี้มีแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยมีโครงการยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย วงเงินงบประมาณ 45,430,000 บาท เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวไทยโดยดำเนินการเป็นเวลา 5 ปี (ปี 2565-2569) โดยมีวงเงินของโครงการ 266 ล้านบาท

มีแผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 58,680,000 บาท วัตถุประางค์เพื่อยกระดับบริกการ ความปลอดภัย และการบริหารจัดการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน โดยมีงบรายจ่ายอื่น คือมีค่าใช้จ่ายในการอำนวยการแก้ไขปัญหานักท่องเที่ยวถูกหลอกหลวงและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว 51,280,000 บาท  ค่าใช้จ่ายในการเตรียมความพร้อมและสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว 3,900,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการประสานความร่วมมือระหว่าง 3,500,000 บาท 

นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีแผนงานยุทธศาสตร์เพื่อสนับสนุนด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขั โดยมีโครงการยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทย 197,292,700 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย 188,005,100 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัด Road Show และจัดนิทรรศการร่วมในเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ 9,287,600 บาท

อีกทั้งมีการตั้งงบประมาณฯ ในโครงการผลักดันตลาดเชิงรุก 6,793,900 บาท มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการตลาดเชิงรุกด้วยการสร้างสรรค์สินค้า บริการ กิจกรรมตลอดจนการประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

ส่วนโครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วงเงิน 25.58 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมพัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรองรับเข้าสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่

เหล่านี้คือรายละเอียดเม็ดเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ในปีงบประมาณที่ผ่านมา ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่อยู่ระหว่างรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งกรอบเวลาไม่ทันในการพิจารณาร่าง พ.ร.บงบประมาณฯ พ.ศ.2567 ได้ทันตามกรอบเวลา เพราะคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยังไม่ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน เพราะยังไม่สามารถบังคับใช้เม็ดเงินงบประมาณปี 2567 ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค. 2566

การพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ถดถอยให้กลับมาได้ 'รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย' จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันการสร้างรายได้การท่องเที่ยวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 เพื่อหวังโกยรายได้เข้าประเทศในช่วงที่รัฐบาลชุดใหม่เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศ