ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)เร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ซึ่งปัจจุบันการการดำเนินการในช่วง ที่ 1 มีความคืบหน้าแล้วกว่า 38.53 % เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 1.10 % โดยได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและงานออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่งานก่อสร้างเขื่อนกันทรายสามารถลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% และเริ่มทดสอบการขุดลอกไปเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ และเริ่มงานขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ของโครงการฯเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทิพานัน กล่าวว่า โครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เป็นโครงการสำคัญเร่งด่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor หรือ EEC มีมูลค่าการลงทุน 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีก 19 ล้านตันต่อปี ใน 30 ปีข้างหน้า รวมถึงรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยจะดำเนินงานเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 เป็นการร่วมทุนระหว่าง กนอ.กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดด้วยการถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ (พื้นที่หลังท่าและหน้าท่าพร้อมใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่)
ช่วงที่ 2 การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เปิดขายซองประมูลเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน-8 ธันวาคม 2565 และจะให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ขณะเดียวกันได้จ้างทีมศึกษาโครงการช่วงที่ 2 อีกครั้ง เพื่อพิจารณาค่าร่วมดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาหากมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) ในภาพรวม ทั้งหมดจะยังคงแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2569 ถึงต้นปี 2570
รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า โครงการทั้งช่วงที่ 1 และ ช่วงที่ 2 ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชุมชนมีรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในชุมชนและภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ มีความมั่นคงด้านพลังงาน ก็จะยิ่งดึงดูดนักลงทุนให้มีความเชื่อมั่นในการลงทุนทั้งในพื้นที่EECและทั่วประเทศ
“ถือเป็นผลงานที่โดดเด่น ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ที่กำลังปั้นมหานครเศรษฐกิจใหม่ในภาคตะวันออก ให้เป็นจริงได้ในไม่ช้า เป็นไปตามยุทธศาสาตร์ชาติ 20 ปี ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างครอบคลุม รอบด้านเพื่อประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม”รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว