ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายนักศึกษาฯ แถลงจัดงาน “47 ปี 6 ตุลาฯ : กว่าจะเป็นประชาธิปไตย” เทียบเชิญประมุข 3 ฝ่าย แสดงจุดยืนโดยรัฐยอมรับความสูญเสีย เทียบกรณีครอบครัวผดก.เกาหลีใต้ขอโทษปชช.

ที่ห้องประชุม จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ชั้น 3 ตึกกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ “เครือข่ายนักศึกษาจัดงาน 47 ปี 6 ตุลาฯ” แถลงข่าวถึงการจัดงานรำลึก “47 ปี 6 ตุลาฯ : กว่าจะเป็นประชาธิปไตย”

โดยเครือข่ายนักศึกษาฯ เล็งเห็นความสำคัญของเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประชาชน จึงร่วมจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมานำเสนอต่อประชาชนและผู้ที่สนใจในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งข้อมูลที่มีการรวบรวมไว้แล้ว และหลักฐานใหม่ ๆ ที่จะมีการเปิดเผยในกิจกรรมของงาน ด้วยความมุ่งหวังว่าจะให้ประชาชน ในปัจจุบันและอนาคต มีความเข้าใจที่ชัดเจนต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนและสามารถบอกต่อคนรุ่นหลังได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เป็นประวัติศาสตร์ของชาติอันพึงจดจำ หาใช่ประวัติศาสตร์ที่รัฐไทยพยายามกลืนไปจากความทรงจำของประชาชน

สำหรับกิจกรรมภายในงานมีดังนี้

ช่วงเช้า 

  • กิจกรรมรำลึกวีรชนผู้เสียชีวิต พิธีสงฆ์ และการวางพวงมาลาดอกไม้ไว้อาลัย ซึ่งปีนี้ขอรณรงค์ให้ผู้มาร่วมงานลดขยะและลดปริมาณพวงมาลาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม 
  • ปาฐกถาประจำปีในหัวข้อ “แด่ทุกต้นกล้าความฝัน : ตื่นจากฝันร้ายของอำนาจนิยมและทุนผูกขาดสู่รัฐสวัสดิการ” โดย รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี และการมอบรางวัล “จารุพงษ์ ทองสินธุ์ เพื่อประชาธิปไตย” และรางวัล “สิทธิมนุษยชนคนธรรมดา” 
  • การกล่าวรำลึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์และแสดงความอาลัยต่อวีรชน ในคอนเซ็ปต์ 3 ประสาน โดยตัวแทนจากภาคประชาชน 3 ส่วนได้แก่ นักศึกษา ชาวนาและกรรมกรผู้ใช้แรงงาน และตัวแทนจากภาคการเมือง

ช่วงบ่าย 

  • สารคดี 6 ตุลาฯ และภาพยนตร์สั้นว่าด้วยเหตุการณ์หลังจากวันที่ 6 ตุลาฯ กำกับโดย ภาษิต พร้อมนำพล และกิจกรรมถอดบทเรียนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในคอนเซ็ปต์ “กว่าจะเป็นประชาธิปไตย” โดยวิทยากรพิเศษ และกิจกรรมเซอร์ไพรส์ รวมถึงการประชันวาที การเสวนา และบูธนิทรรศการต่าง ๆ เช่น การจัดแสดงนิทรรศการโดยพิพิธภัณฑ์สามัญชน ภายในหอประชุมศรีบูรพา ตั้งแต่เวลา 12:00 น. เป็นต้นไป

ช่วงเย็น

  • ตั้งแต่ 16:00 น. กิจกรรม Walking Tour โดยคนเดือนตุลา ได้แก่ หนึ่งในอดีต 18 ผู้ต้องหา นักแสดงจำลองเหตุการณ์การอุ้มฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐม 2 รายที่ติดประกาศต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจร ทรราชผู้สั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 อันเป็ชขนวนเหตุสำคัญ ในการปลุกระดมเพื่อเข่นฆ่าประชาชนในสถานศึกษา วันที่ 6 ตุลาฯ 2519 ในเวลาต่อมา พร้อมด้วยนักวิชาการทางประวัติศาสตร์คนสำคัญอีกมากมาย
  • การแสดง “บ้านเมืองของเรายังคงลงถังแดง” โดย TU Drama, บทเพลงปฏิวัติ, พิธีเทียนรำลึกวีรชนสานต่ออุดมการณ์เดือนตุลาฯ

นอกจากนี้ เครือข่ายนักศึกษาฯ ยังได้ประกาศเชิญประมุขอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ฝ่าย ได้แก่ นายกรัฐมนตรี (ประมุขฝ่ายบริหาร) ประธานรัฐสภา (ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ) และ ประธานศาลฎีกา (ประมุขฝ่ายตุลาการ) มาร่วมแสดงความเคารพต่อวีรชน และแสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของชาติ ประวัติศาสตร์ของประชาชน พร้อมกล่าวขอบคุณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ทำหนังสือเรียนเชิญประมุขทั้ง 3 ฝ่ายมาเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกเป็นครั้งแรกในรอบ 47 ปี ตามคำร้องขอของเครือข่ายนักศึกษาฯ

และขอเชิญชวนองค์กรผู้แทนตลอดจนองค์กรกิจกรรมของนักศึกษา ทั่วประเทศ ร่วมกันจัดกิจกรรมรำลึกพร้อมกันทั่วประเทศ

ต่อความสำคัญของการเชิญประมุข 3 ฝ่ายให้มาร่วมงานดังกล่าว เครือข่ายนักศึกษาฯ ย้ำว่า ประการแรก เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คือ การกระทำความรุนแรงโดยรัฐ เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายผู้อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นมาในนามของรัฐ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการแสดงออกจากรัฐในการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ประการที่สอง เป็นเรื่องของการขอโทษต่อสาธารณะ (Public Apology) ว่าครั้งหนึ่งรัฐเคยกระทำผิดพลาด ก่ออาชญากรรมต่อประชาชน เช่นเดียวกับกรณีที่ครอบครัวอดีตประธานาธิบดีและเผด็จการเกาหลีใต้ ออกมาขอโทษญาติผู้ถูกสังหารจากเหตุการณ์ประท้วงที่กวางจู เมื่อปี 2523