วันที่ 28 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา นพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union; KNU) หนึ่งในกองกำลังชาติพันธุ์ ออกแถลงการณ์ระบุว่า ในระหว่างการส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงมีคนจากรัฐบาลทหารเมียนมา หรือสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Coucil; SAC) เข้ามาในพื้นที่โดยไม่คาดคิด
โดย นพดล มองว่า เรื่องมีการแทรกแซงการช่วยเหลือหรือไม่นั้น คงจะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทาง กมธ.ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะให้การยืนยันได้ แต่เบื้องต้นเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือตามหลักการมนุษยธรรม หรือระเบียงมนุยธรรม ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เราสนับสนุนการเริ่มต้นเล็กๆ ก้าวแรก และสนับสนุนให้รัฐบาลให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม เพื่อสอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อ ของอาเซียน
นพดล ย้ำว่า ในเมื่อมีการช่วยเหลือ คำวิพากษ์วิจารณ์ย่อมมีเสมอ แต่ทาง กมธ.การต่างประเทศ ได้เคยเสนอแนะรัฐบาลไปว่า ต้องเพิ่มเงิน และงบประมาณให้มากขึ้น และเพิ่มคนให้ครอบคลุมมากขึ้น รวมถึงต้องพยายามให้ความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ในพื้นที่เพื่อให้ขยายการช่วยเหลือให้ครอบคลุม ไม่ใช่เพียงแค่คนที่อยู่ในการดูแลของ SAC ชนกลุ่มน้อย หรือชาติพันธ์ุเท่านั้น
“รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเองก็ทราบเรื่อง และเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ก็ขอให้ทำงานต่อไป เราให้กำลังใจ” นพดล กล่าว
นอกจากนี้ นพดล ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดการส่งตัวเด็กไร้สัญชาติอายุ 19 ปีกลับประเทศเมียนมาว่า จากกรณีดังกล่าวทราบว่า ขณะนี้เด็กกลุ่มดังกล่าวอยู่ที่ จ.เชียงราย และทาง กมธ. ไม่เห็นด้วยเนื่องจากเป็นการผลักดันเด็ก ไม่ว่า จะมี หรือไร้สัญชาติอาจฝ่าฝืน พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2556 เพราะรัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การสงเคราะห์เด็กดังกล่าว
นอกจากนี้ยังอาจเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Conventions on the Rights of the Child; UNCRC) และในขณะนี้ รัฐบาลไทยกำลังผลักดันเรื่องจุดมนุษยธรรมที่แม่สอด เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในเมียนมา ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของไทยอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาค
“กมธ. เห็นว่าการผลักดันเด็ก19 คนกลับเมียนมา น่าจะเป็นการกระทำที่สวนทาง และกระทบต่อหลักการ ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศ การคุ้มครองเด็กไร้สัญชาติมิเพียงแต่เป็นการดำเนินการทางมนุษยธรรมเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ สร้างเกียรติภูมิของประเทศ ทำให้ไทยมีจุดยืนในเวทีระหว่างประเทศอย่างสง่างาม” นพดล กล่าว