จิรภัทร ตรงจิตต์รักษา อดีตนิสิตข้ามเพศคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เรียกร้องสิทธิเรื่องการแต่งกายตามเพศสภาพในรั้วมหาวิทยาลัย และนววิช เสนาบุตร์ Miss PNRU Queen 2020 เข้ายื่นหนังสือถึงคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง อนุญาตให้นักศึกษาสามารถแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะบัณฑิต ตามเพศสภาพในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร ด้วยเชื่อมั่นว่าพรรคไทยสร้างไทย เป็นพรรคทางเลือกใหม่ ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ตามวิสัยทัศน์ “ไทยสร้างไทยสู้เพื่อชัยชนะของประชาชน”
ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ หัวหน้าพรรคก็ยินดีรับฟัง ให้ความสำคัญ พร้อมทั้งมอบหมายให้ ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล โฆษกพรรคไทยสร้างไทยและคณะทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศและเสมอภาคทางสังคม ซึ่งขณะนี้ เป็นผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 บางซื่อ ดุสิตเฉพาะแขวงถนนนครไชยศรี ร่วมชับเคลื่อน เพื่อผลักดันให้ข้อเรียกร้องของคณะนิสิตข้ามเพศเกิดขึ้นจริงโดยเร็ว
ภายในหนังสือประกอบไปด้วยรายชื่อของคณะนิสิตข้ามเพศมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศที่รวมตัวกัน ซึ่งมีเนื้อหาใจความเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฎทั้ง 38 แห่งและสถานศึกษาอื่น ๆ ตระหนักถึงสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรมและได้รับการความคุ้มครองตาม พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2555 มาตรา 17 ว่าด้วยการกำหนดนโยบาย กฎ ระเบียบ ประกาศ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็น ธรรมระหว่างเพศจะกระทํามิได้ โดยมาตรา 3 “การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ” หมายความว่า การกระทําหรือไม่กระทําการใดอันเป็นการแบ่งแยก กีดกัน หรือจํากัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือ ทางอ้อม โดยปราศจากความชอบธรรม เพราะเหตุที่บุคคลน้ันเป็นเพศชายหรือเพศหญิง หรือ มีการแสดงออก ท่ีแตกต่างจากเพศโดยกําเนิด
ทั้งนี้กลุ่มผู้ยื่นหนังสือได้เน้นย้ำถึงหนึ่งในแนวปฏิบัติสําคัญของพ.ร.บ.นี้ คือ การแต่งกาย ซึ่งมีใจความโดยย่อว่าหน่วยงาน/สถาบันการศึกษา ควรให้สิทธิบุคลากร/นักศึกษา สามารถแต่งกายตามอัตลักษณ์ ทางเพศสภาพหรือเพศภาวะ ของบุคคลน้ัน ตามข้อบังคับของหน่วยงาน หรือ สถาบันการศึกษา ดังนั้นการประสานงานเพื่อให้เกิดการพิจารณาอนุมัติ ให้นักศึกษาข้ามเพศได้รับสิทธิแต่งกายตามระเบียบให้สอดคล้องกับเพศสภาพและการแสดงออกทางเพศ และการพิจารณาอนุมัติให้นักศึกษาแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะบัณฑิตตามเพศสภาพ ในการเข้ารับ พระราชทานปริญญาบัตร รวมถึงการใช้รูปถ่ายแต่งกายตามเพศสภาพนั้น จะเป็นการคุ้มครองและส่งเสริม ให้บุคคล, ชุมชนคนข้ามเพศ และสังคมไทยให้ก้าวสู่ความเป็นสากลทัดเทียมนานาอารยะประเทศได้อย่างเต็มภาคภูมิ
โดยหลังจากนี้หลังเข้ามอบหนังสือ ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุลผู้ได้รับมอบหมาย กล่าวว่าพร้อมสนับสนุนเต็มที่ สิทธิในการแต่งกายคือสิทธิมนุษยชน ตนจะเร่งนำไปพิจารณาหาทางผลักดันให้ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นจริง มีความเป็นธรรมและอาจเป็นแม่แบบที่จะสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในองค์กรอื่นๆ ทั่วประเทศได้เอาเป็นแบบอย่างต่อไปในภายภาคหน้า