เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 ส.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบทำร้ายประชาชน มีวาระพิจารณาศึกษาปัญหาการถูกข่มขู่ คุกคามของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย โดยอนุ กมธ.ได้เชิญบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงประกอบด้วย 1) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) 2) ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระยอง 3) รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) ศึกษาธิการ 4) รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5) ปลัดกระทรวงมหาดไทย 6) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 7) อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน
ทั้งนี้ อนุ กมธ.ชุดนี้ มี จตุภัทร์ บุษภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน และ ลูกเกด - ชลธิชา แจ้งเร็ว สองนักกิจกรรมทางการเมืองร่วมเป็นอนุ กมธ.ด้วย อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ไม่ได้เข้าชี้แจงแต่ส่งตัวแทนเข้าแทน
นักกิจกรรมจวก ตร.คง พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมม็อบ
ขณะที่บรรยากาศการประชุม มีการหยิบยกกรณีการชุมนุมและการปราศรัยของแฟลชม็อบขึ้นมาพิจารณา ระหว่างตัวแทนองค์กรสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมและตำรวจ ขณะที่ตัวแทนผู้จัดชุมนุม ได้ให้ความเห็นแย้งว่าการแสดงออกของเยาวชนนั้น เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ รวมถึงการคงไว้ของประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วยการอ้างสถานการณ์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะประเทศไทยนั้นไม่มีการติดเชื้อในประเทศร่วม 3 เดือนแล้ว ซึ่งทางนักกิจกรรมได้ตั้งข้อสังเกตว่าการขยาย พ.ร.ก.ดังกล่าวนั้น เพื่อควบคุมการชุมนุมหรือไม่
ขณะเดียวกันกรณีการจับ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ประธานเยาวชนตะวันออกเพื่อประชาธิปไตย และเครือข่ายหลังชูป้ายประท้วง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ระหว่างการลงพื้นที่ จ.ระยอง ได้มีการตั้งคำถามกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าทำไมถึงนำตัวไปปล่อยที่ หน่วยปฏิบัติการพิเศษตำรวจภูธรระยอง อีกทั้งการแจ้งข้อหา ตร.ที่ควบคุมตัว ไมค์และแกนนำแฟลชม็อบ ทำไมถึงไม่มีความคืบหน้าทั้งที่มีภาพปรากฎชัดเจนจากสำนักข่าวต่างๆ จนการแจ้งข้อหาหมดอายุความ
โดยตัวแทน ผบ.ตร.ชี้แจงว่า "ไม่สามารถตอบคำถามได้ เพราะไม่ใช้พื้นที่ดูแล" อีกหนึ่งกรณีคือกิจกรรมวิ่งแฮมทาโร่ของกลุ่มแนวร่วมนวชีวิน ได้มีการตั้งคำถามอีกว่าทำไม กทม.ไม่อำนวยความสะดวกผู้ชุม เช่น การตั้งรถห้องน้ำให้ผู้เข้าร่วม ตัวแทน กทม. ให้เหตุผลว่า "ต้องดูแลในหลายพื้นที่"
ตร.อ้างแฝงตัวม็อบเข้าไปหาข่าว
ส่วนกรณีการคุกคามนักเรียนในสถานศึกษานั้น ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ชี้แจงว่าได้อนุญาตให้มีการชุมนุมในพื้นที่โรงเรียนภายใต้ความรับผิดชอบของ สพฐ.ได้ ส่วนกรณีการคุกคามนั้นอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง 109 กรณี ตามที่ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทยได้ยื่นข้อร้องเรียน ยืนยันว่าหากพบว่าผิดจริงจะมีการลงโทษทางวินัยตามข้อบังคับ
ทั้งนี้ ที่ประชุม อนุ กมธ.มีการตั้งคำถามว่าการส่งตำรวจนอกเครื่องแบบเข้าไปปะปนกับผู้ชุมนุมนั้น มีจุดประสงค์อย่างไร ตร.ได้ชี้แจงว่าเพื่อหาข่าวในการจัดม็อบ ด้านนักกิจกรรมโต้แย้งทำไมเลือกปฏิบัติฝ่ายเดียว โดย ตร.เงียบไม่ตอบคำถามดังกล่าว
ประธาน อนุฯ ติง ตร.นอกเครื่องแบบแฝงตัวม็อบ - สพฐ.ยันเยาวชนใช้สิทธิตาม รธน.
ด้าน วิชิต ปลั่งศรีสกุล ประธานอนุ กมธ.แก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้เชิญเจ้าหน้าที่ตำรวจมาชี้แจงกรณีการจับกุมนักกิจกรรมที่ จ.ระยอง รวมถึงหน่วยงานจากกระทรวงที่เกี่ยวข้องและตัวแทนผู้จัดแฟลชม็อบ เพื่อศึกษาหาทางออกต่อสถานการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนในห้วงการเคลื่อนไหวของเยาวชน โดยมีการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าควรคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของนักเรียนและคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการชูสาวนิ้ว การผูกโบขาว หรือกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการส่งเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปในม็อบ ควรแสดงตัวให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดและความกังวลของผู้เข้าร่วม ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ชี้แจงในหลักการของกฎหมายต่างๆ ส่วนตัวแทนของ สพฐ. ที่ได้ชี้แจงถึงสิทธิเสรีภาพของนักเรียนในการแสดงออกทางการเมือง โดยตัว สพฐ.จะประสานโรงเรียนต่างๆ ให้พื้นที่เยาวชนตามสิทธิพึงได้ตามรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ดี วิชิต ได้ฝากถึง ตร.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรบูรณการปรับตัวและเคารพสิทธิของเยาวชน เพราะการแสดงออกตามเสรีภาพไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย