น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เผยแพร่รายงานสำหรับการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น โดยประกาศรายชื่อ 38 ประเทศ ที่มีพฤติกรรมน่าละอาย ด้วยการตอบโต้หรือข่มขู่บุคคลที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งการสังหาร ทรมานและจับกุมตัวตามอำเภอใจ ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 29 ประเทศที่เพิ่งถูกขึ้นบัญชีใหม่ ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย ปรากฏอยู่ในหมวดเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ของการถูกคุกคามหรือกลั่นแกล้งจากการร่วมมือกับยูเอ็นต่อตัวแทนของยูเอ็น และกลไกในพื้นที่สิทธิมนุษยชน ดังนี้
1.รายงานนี้จัดทำขึ้นโดยนาย Andrew Gilmore ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อใช้ประกอบในการประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการจัดทำและนำเสนอรายงานตามกระบวนการของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ที่มีการจัดทำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 ตามข้อมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ที่ 12/2 โดยนาย Gilmore ผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน จะเป็นผู้นำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ในวันที่ 19 ก.ย. 2561
2.รายงานระบุสถานการณ์ในประเทศต่างๆ ในปีนี้ (61) รวม 29 ประเทศ และมีประเทศที่ต้องติดตามจากปีที่แล้วอีก 19 ประเทศ รวมทั้งไทย โดยในส่วนของไทยในปีนี้ ได้แก่ กรณีนายไมตรี จำเริญสุขสกุล และ น.ส. ศิริกาญจน์ เจริญศิริ (ทนายจูน) และมีกรณีติดตามจากรายงานปีที่แล้ว เช่น กรณีฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภายใต้
3.กรณีที่กล่าวถึงข้างต้นไม่เกี่ยวข้องกับการให้ความร่วมมือกับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด โดยการดำเนินการเป็นไปตามหลักกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4.ไทยไม่มีนโยบายหรือเจตนาจะคุกคาม ข่มขู่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงได้มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยได้พัฒนากระบวนการ กลไก และมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ได้รับความปลอดภัยและสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิตได้ โดยที่ผ่านมารัฐบาล โดยกระทรวงยุติธรรมได้มีการดำเนินการหลายประการ อาทิ การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนามาตรการในการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางกรอบแนวทางในการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การจัดทำคู่มือสำหรับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน การลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกละเมิด/มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิด และการจัดทำรายงานสถานการณ์การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนรายงานนายกรัฐมนตรีรายสัปดาห์
นอกจากนี้ รัฐบาลอยู่ระหว่างปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ.2546 และจะบรรจุประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของร่างแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ.2562 – 2566 รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้จัดตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ
5.เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จะเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอรายงานต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ของผู้ช่วยเลขาธิการสหประชาชาติ ในวันที่ 19 ก.ย. 2561 ที่เจนีวา และใช้โอกาสนี้ชี้แจงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไทย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง