ไม่พบผลการค้นหา
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย จัดเวทีคุยเรื่องถนนผ่านระบบ Zoom หัวข้อ “ชวนชุมชนมาทำวิจัยความปลอดภัยทางถนน” อันหนึ่งในกระบวนการแปลงงานวิชาการ สู่ชุมชนผ่านกระบวนการวิจัยท้องถิ่น เพื่อเปิดให้ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ ได้เข้าใจปัญหาและร่วมมือกันแก้ไข ปัจจัยที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน

ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ หัวหน้าพี่เลี้ยงแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ภาคกลาง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมางานวิจัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เน้นทำข้อมูลเชิงวิชาการ เมื่อนำมาใช้กับชุมชนหรือชาวบ้าน ทำให้เกิดช่องว่างความไม่เข้าใจ มองเป็นหน้าที่ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น กระบวนการวิจัยความปลอดภัยทางถนน โดยทีมพี่เลี้ยง สอจร. จึงเน้นหยิบยกปัญหาของชุมชนขึ้นมา ผ่านการมีส่วนร่วมทำให้คนในท้องถิ่น ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง เพราะทุกวันนี้ถนนตัดผ่านหน้าบ้านทุกคน และการเดินทางต้องออกจากถนนสายรองขับสู่สายหลัก ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย  

ชิษณุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับกระบวนการทำวิจัยท้องถิ่นนั้น จะประกอบสร้างทีมจากหลากหลายสาขา รวมถึงเครือข่ายโรงเรียนและผู้ปกครอง มีกระบวนการเติมข้อมูลความรู้ ให้ทุกคนตระหนักและรู้สึกว่า เป็นกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกับปัญหาที่สุด เมื่อทุกคนรู้สึกว่าได้เข้ามาเป็นเจ้าภาพจัดการปัญหาท้องถิ่น จะเปิดช่องนำไปสู่การพูดคุยและหาทาง ปรับพฤติกรรมเสี่ยงของคน โดยการตั้งเป็นกฎระเบียบของชุมชน เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และปรับปรุงถนนให้ปลอดภัยเพื่ออุดจุดโหว่ทุกจุด และเมื่อกระบวนการเกิดจากในพื้นที่ พฤติกรรมคนก็ปรับเปลี่ยนและยินดีให้ความร่วมมือ 

"ที่ผ่านมาเวลาทำโครงสร้างพื้นฐาน ทำถนน ไม่ได้ให้ชาวบ้านและคนในพื้นที่มีส่วนร่วม เรียกว่าตรัสรู้ในห้องแอร์เป็นส่วนใหญ่ อยากจะขีดถนนตัดผ่านตรงไหนก็ทำเลย โดยไม่ดูบริบทการใช้ชีวิตของชาวบ้าน เช่นที่กลางดงกว่าจะข้ามฝ่าถนน 6 เลน ไปอีกฝั่งมีความอันตรายมากเลย กรณีนี้เป็นปัญหาซับซ้อน มากกว่าชาวบ้านจะแก้ไขกันเอง เมื่อทุกคนรู้ว่าเป็นปัญหาร่วม และทำงานในเชิงภาคีเครือข่าย จึงเกิดสานสัมพันธ์ทำงานทุกบทบาทหน้าที่ ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่ง" ชิษณุวัฒน์ กล่าว

ด้าน อัจฉรา อะมุตะคุ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกลางดง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ชุมชนกลางดงบริบทพื้นที่มีถนนมิตรภาพ ตัดผ่าตรงกลางทำให้วิถีชีวิตการเดินทาง ไปทำงาน ไปโรงเรียน ของชาวบ้านเปลี่ยนไป ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง โดยในช่วงเวลา 7- 8 โมงเช้า เป็นช่วงคนท้องถิ่นใช้ถนนมากที่สุด การจะข้ามฝั่งต้องกลับรถตัดกระแสรถทางตรง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้ความเร็วสูงมาก ขณะที่การขับขี่ในระยะใกล้ของชาวบ้าน จะไม่เร็วมากในการข้าม 3 เลนไปจุดกลับรถ และข้าม 3 เลน เพื่อเข้าเลนซ้าย เมื่อเห็นถึงปัญหาและได้ถูกชักชวนร่วมทำวิจัยชุมชน โดยมีเป้าหมายอยากได้ภาคีเครือข่ายที่ไม่ได้จำกดัแค่หน่วยงานรัฐ แต่ต้องการผู้นำชุมชน ชาวบ้าน และภาคเอกชน เข้ามาร่วมกันพูดคุยหาแนวทางป้องกันอุบัติเหตุ และแก้ไขตั้งแต่มีความเสี่ยงไม่ใช่รอให้เกิดเหตุแล้วถึงไปแก้ แก้ปัญหาที่ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นข้อมูลจากพื้นที่ อยากให้คนใช้รถใช้ถนนประจำวัน รู้สึกเป็นเจ้าของปัญหา จะได้มีแรงผลักดันและขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

"ชาวบ้านตื่นตัวสะท้อนปัญหาและให้ข้อมูล เมื่อรู้ว่ามีทีมลงไปเก็บข้อมูลเพื่อจะนำมาแก้ปัญหา ด้วยการทำงานร่วมกันเป็นทีมวิจัยกลางดงของ อสม. ผู้นำชุมชน กู้ชีพกู้ภัย เทศบาล 2 แห่ง ช่วงเวลาที่ทำมา ปีกว่าๆ เริ่มจากสร้างความเข้มแข็งของทีม ไม่ใช่แค่การเชิญประชุมหนังสือราชการ มีการทำงานที่นอกเหนือภาระหน้าที่การงาน ทำงานโดยไม่แบ่งพื้นที่เทศบาล 15 หมู่บ้าน ทำร่วมกันทั้งหมด แม้ชุมชนอาจยังไม่เปลี่ยนมาก แต่ในโรงงานเปลี่ยนมีการใส่หมวกเพิ่มขึ้น เจ้าของโรงงานเองก็สร้างพื้นที่ปลอดภัย ให้พนักงานขับรถมาทำงานปลอดภัยมากขึ้น" อัจฉรา กล่าว

3A2680AA-2631-4745-8623-5029B2C62FC4.jpg