ไม่พบผลการค้นหา
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขเพิกถอนทะเบียนตำรับ "ยาอะเซตฟีโนลิเซทิน" เหตุไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา หวั่นทำให้เกิดโรคตับอักเสบได้

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา (วันที่ 14 ก.พ.) เผยแพร่คำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 1807/2560 เรื่อง เพิกถอนทะเบียนตำรับยา ลงนามโดย ศ.คลินิก นพ. ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข วันที่ 12 ก.พ. ระบุว่่า ด้วยปรากฏว่ายาอะเซตฟีโนลิเซทิน (Acetphenolisatin) หรือออกซีเฟนิเซติน (Oxyphenisatine) ที่ขึ้นทะเบียนตำรับยาไว้ในรูปแบบยาเดี่ยว ชนิดรับประทาน ในข้อบ่งใช้เป็นยาระบาย บรรเทาอาการท้องผูก ไม่มีข้อมูลสนับสนุนประสิทธิภาพของยา หรือไม่มีสรรพคุณตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ และอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้ยา เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคตับอักเสบ (hepatitis)

กระทรวงสาธารณสุข ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2530 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยคำแนะนำของคณะกรรมการยาในการประชุม ครั้งที่ 374 - 7/2560 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จึง สั่งเพิกถอนทะเบียนตำรับยาชนิดรับประทานตำรับยาเดี่ยวอะเซตฟีโนลิเซทิน (Acetphenolisatin) หรือออกซีเฟนิเซติน (Oxyphenisatine) ทะเบียนตำรับยาเลขที่ 1A 347/31 ชื่อการค้า Satin ผลิตโดยบริษัท เอเชี่ยนยูเนี่ยนแล็บบอราตอรี่ จำกัด จำนวน 1 ตำรับ

อย่างไรก็ตาม หากผู้รับอนุญาตผู้ใดไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้ สามารถใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้โดยให้ทำคำฟ้องเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังศาลปกครองภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากข้อแนะนำการใช้ยาระบายของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ระบุว่า ควรดูข้อมูลที่ระบุที่ฉลากก่อนใช้ยาอย่างละเอียด เช่น วิธีการใช้ , ขนาดการใช้ยา หรือข้อควรระวังต่าง ๆ เป็นต้น 

สำหรับเด็กที่มีอาการท้องผูกโดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ให้ใช้ยากลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของ ลำไส้บ่อยครั้ง หากอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา ส่วนหญิงมีครรภ์ หากจำเป็นต้องใช้ยา ควรใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ทำให้อุจจาระจับตัวเป็นก้อนนิ่ม หรือยาที่เพิ่มแรงตึงผิว ห้ามใช้ยากลุ่มน้ำมันละหุ่ง เพราะผลการระคายเคืองของยาจะทำให้ แรงแบ่งคลอดลดลง 

สำหรับผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ตับหรือไตทำงานบกพร่อง หากใช้ยาเป็นประจำอาจทำให้เกิดการเสียสมดุลน้ำและเกลือแร่ได้