ความนิยมในอาหารไทย 'แท้' ที่เพิ่มขึ้นในหมู่ชาวลอนดอนทำให้ร้านตะวันซึ่งอยู่มาร่วม 35 ปีนั้นมีวัตถุดิบอาหารไทยหลายอย่างบนชั้นวางของชนิดที่อาจจะไม่คิดกันว่าจะได้เห็น เริ่มตั้งแต่ผักอย่างชะอม ผักกระเฉด ผักหวาน ผักแผ้ว ดอกขจร สะเดา เพกา สะตอ ลูกเหรียง และอื่นๆ มีจนถึงลอดช่องกับเฉาก๊วยยี่ห้อดัง แม้กระทั่งวัตถุดิบอย่างปลาร้า แกงเหลือง แกงไตปลา น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกน้ำเงี้ยว ฯลฯ การขายเครื่องประกอบสำหรับทำอาหารไทยทำให้ร้านตะวันเป็นเสมือนร้านขายของหายาก ผู้คนเดินทางมาจากหลายแห่งและหลายทิศเพื่อซื้อวัตถุดิบเหล่านี้
ขณะที่เธอสังเกตว่าลูกค้าคนไทยซื้อเครื่องแกงไปทำแกง แต่ชาวต่างชาติจำนวนมากทำอาหารไทยด้วยการทำเครื่องแกงเอง พวกเขาได้ความคิดและสูตรจากรายการแนะนำทำอาหารซึ่งเธอบอกว่าบางทีก็ผิดพลาดได้ คนขายของในร้านอย่างร้านตะวันจึงต้องมีความรู้มากพอจะแนะนำได้ว่า “ของจริง” ควรเป็นอย่างไร แต่ความแตกต่างของวิธีการของลูกค้า ก็ทำให้ร้านต้องขายทั้งของสำเร็จรูปและของสด นอกจากนั้นการขายของให้คนที่ทำอาหารไทยอย่างเดียวย่อมอยู่ไม่ได้ ร้านจึงขายของสารพัดที่จะมีลูกค้าคนลาว เขมร พม่า ฯลฯเข้าไปซื้อหาได้ เพียงแต่ต้องเรียนรู้ความต้องการของลูกค้าแต่ละชาติล้วนที่เฉพาะตัว เช่นเครื่องแกงทำน้ำสะเต๊ะของไทยอาจจะเข้มข้นด้วยเครื่องเทศมากไปสำหรับลูกค้าชาวมาเลย์ เป็นต้น
“ซูเปอร์มาร์เก็ต มันเป็นธุรกิจที่ต้องทำรายละเอียดเยอะมาก เป็นงานที่จุกจิกมาก สินค้ามีเป็นพันๆ ตัว ต้องดีลกับซัพพลายเออร์จากหลายประเทศ” ปัจจุบันวัตถุดิบหรือเครื่องปรุงแต่ละประเภทจะมีสินค้า 20-30 ตัวให้เลือก ร้านของเธอจึงต้องมีอย่างน้อย 2 ยี่ห้อให้ลูกค้าเลือกเสมอ แต่ผลของการทำงานคัดสรรสินค้ามาขาย ติดต่อกับซัพพลายเออร์และเข้าใจกระบวนการนำเข้าส่งออก ทำให้คนทำร้านตะวันกลายเป็นที่ดูดซับข้อมูลเรื่องปัญหาของการส่งออกสินค้าไทยบางตัว
สุวรรณาเล่าให้ฟังว่า เคยมีผักหลายสิบชนิดที่โดนแบนไปเพราะไม่ผ่านกฎข้อบังคับ “สินค้าไทยประเภทผักที่นี่โดนห้าม ต้องผ่านการตรวจคัดกรองกันมา โหระพา กะเพรา เราโดนแบนมาหลายปีแล้ว ในการส่งออกต้องผ่านขั้นตอนการตรวจอะไรเยอะแยะ โหระพาก็มีเข้ามาจากเมืองไทย หลังๆ มีการนำไปปลูกที่อิสราเอล” รวมไปถึงการนำไปปลูกในยุโรปด้วย ในขณะที่สินค้าจากไทยไม่ผ่านการตรวจ
ประสบการณ์กับร้านตะวันทำให้สุวรรณามองเห็นพัฒนาการบางอย่างแจ่มชัด เท่าที่เธอรู้ร้านที่เน้นขายวัตถุดิบอาหารไทยและเอเชียแบบนี้ในลอนดอนมีเพียง 2 ร้าน คือร้านตะวัน กับร้านไทยสไมล์ แต่ในต่างเมืองหลายแห่งก็มีแทบจะทุกเมืองแล้ว และขายกันในหลายๆแห่งที่ไม่เคยขายมาก่อน
“คือที่ไหนก็มี ซื้อที่ไหนก็ได้ มันไม่ได้เป็นอะไรที่พิเศษ เทสโก เค้าก็ขายของไทย มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ก็มี” สุวรรณาจึงมองว่าตลาดอิ่มตัวแล้ว
ร้านตะวันเองขยายพื้นที่ร้านจาก 1 คูหาออกเป็น 3 คูหา และยังมีร้านอาหารไทยในเครืออีกสองร้าน รวมทั้งได้เร่ิมทำร้านค้าส่งแบบยกลัง หรือ Cash and Carry ขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา มาถึงจุดนี้สุวรรณาบอกว่าเธอตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ขยายตัวเพิ่มยกเว้นแต่จะมีการปรับปรุงร้าน ซึ่งดูจะเป็นงานของคนรุ่นถัดไป
เธอชี้ว่าพฤติกรรมของผู้คนในการซื้อและบริโภคสินค้าในปัจจุบันล้วนเปลี่ยนไปมากมายจากเดิมที่เธอเคยเห็น มันสะท้่อนภาพใหญ่บางอย่างของสังคมด้วย ความรู้สึกของสุวรรณาเป็นภาพของสังคมเดิมที่ผู้คนทำงานหนัก เห็นคุณค่าของเงิน ซื้อของมีคุณภาพ ปัจจุบันภาพนี้ถูกแทนที่ด้วยความนิยมในสินค้าราคาถูกที่อยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามที่เจ้าของพร้อมจะโยนทิ้ง กับการรักความสะดวกสบายพร้อมจะจ่ายเงินให้กับบางสิ่งบางอย่างชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
เธอยกตัวอย่างสินค้าจีนราคาถูกที่เข้าตีตลาดอังกฤษ ของราคาถูกเหล่านั้นซึ่งสอดรับกับพฤติกรรมของคนจำนวนหนึ่ง แต่ผลกระทบที่ลงลึกมากกว่า ก็คือทำให้สินค้าจำนวนมากที่วางขายในอังกฤษต้องตรึงราคาไว้ที่เดิมส่งผลต่อค่าแรงและอื่นๆ ในขณะที่ผู้บริโภครุ่นใหม่กลับพร้อมจะจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อซื้อความสะดวก เช่นการสั่งอาหารที่จัดส่งถึงบ้านหรือเดลิเวอรี
“Deliveroo เอาไปกินหมด Uber เอาไปกินหมด มันมีสองเจ้าที่รับส่งให้ แพงมากนะ เค้าหักคนทำ 30 เปอร์เซ็นต์เลย ยังไม่พอ เค้าเก็บ 2.5 ปอนด์ต่อออร์เดอร์ลูกค้า ลูกค้าก็ยอมจ่าย ผัดไทยกล่องหนึ่ง 8-9 ปอนด์ บวกค่าส่งอีก 2.5 ปอนด์ รวม 11 ปอนด์”
ร้านตะวันเองก็ต้องปรับตัวในด้านเทคโนโลยี เริ่มต้นด้วยการเอาระบบสแกนสินค้าเข้าไปใช้ แต่เธอระบุว่าการปรับตัวนี้จะไม่รวมไปถึงการรับส่งอาหารตามสั่ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะหาคนมาทำหน้าที่ส่งให้ได้หรือไม่ สุวรรณาชี้ว่าปัญหาสำคัญของการทำธุรกิจในอังกฤษเวลานี้ก็คือการขาดแคลนแรงงานซึ่งเป็นปัญหาที่กระทบธุรกิจมาได้ระยะหนึ่งแล้วก่อนที่จะมีเรื่องเบร็กซิต จนทำให้มีบางร้านบางธุรกิจต้องปิดตัวไป ในขณะที่รัฐบาลเองก็ไม่พร้อมจะยืดหยุ่นให้มีการนำแรงงานใหม่เข้ามาทำงาน ธุรกิจหลายอย่างพึ่งพาแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะยุโรปตะวันออกย่อมได้รับผลกระทบ
ชาวยุโรปตะวันออกจากบางประเทศเข้าไปแสวงหาโอกาสในชีวิตและเป็นแรงงานราคาถูกในอังกฤษ มาถึงจุดนี้สุวรรณาบอกว่ายากแล้วที่จะพึ่งพาแรงงานบางกลุ่มที่เคยพึ่งได้
“โปแลนด์นี่ยากแล้ว เพราะพวกเขาเป็นประเทศแรกๆ ที่เข้ามาทำงาน พอพวกนั้นตั้งรกรากก็คงจะมีอาชีพ เค้าปักหลักแล้วจะไม่มาทำแรงงาน เป็นเจ้านายตัวเองแล้ว พวกแรงงานตอนนี้ก็คงจะเป็นพวกที่ยุโรปตะวันออกที่เพิ่งมารวมกับอียูเมื่อไม่นานมานี้” แต่ว่าคนกลุ่มนี้สุวรรณาก็เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากเบร็กซิต พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในอังกฤษหลังจากที่อังกฤษถอนตัวจากสหภาพยุโรปหรืออียู และพวกเขาคงจะต้องเดินทางกลับ
ในช่วงนี้รัฐบาลอังกฤษกำลังเจรจากับอียูเพื่อกำหนดเงื่อนไขความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุน เรื่องของข้อกำหนดคนเข้าเมืองและความสัมพันธ์ใหม่ ก่อนที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกอียูในปี 2019 ผลกระทบจากเบร็กซิตนี้ทำให้คนที่เข้ามาทำงานบางส่วนไหวตัว
“เท่าที่พูดคุย แรงงานเดินทางออกไปเยอะแล้วนะ ทุกเดือนจะมีคนเดินทางออกไป แรงงานหายากขึ้นมาก”
ร้านไทยอย่างร้านตะวันอยู่กับสังคมอังกฤษมานาน เจ้าของร้านย่อมมองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างด้วยสายตาของคนที่เสมือนเป็นคนใน สุวรรณาเองเป็นอีกคนที่ไปออกเสียงให้อังกฤษถอนตัวจากอียูในช่วงที่มีการลงประชามติ
“จริงๆแล้วพี่โหวตให้ออกนะ” เธอเล่า “เพราะมีความรู้สึกว่าเราเสียเงินไปเยอะมากเพื่อสนับสนุนประเทศที่เข้ามากอบโกย พี่คิดว่าสหราชอาณาจักรยังมี Know How (ความรู้) มีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่พึ่งตัวเองได้ น่าจะยืนได้”
ความรู้สึกต่อสังคมอังกฤษของสุวรรณาอาจจะคล้ายๆใครอีกหลายคนที่เห็นอังกฤษถดถอยลงในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เธอสะท้อนปัญหาการที่ค่าเงินปอนด์อ่อนลงทุกขณะ “อยู่อังกฤษมานานมาก ค่าของเงินมันก็ลดลงทุกวัน เคยรู้สึกว่าเงินในกระเป๋าเรานี่ใหญ่โตนะ แต่ตอนนี้รู้สึกจะหดหายไปร้อย 30-40 แล้ว
"พี่เคยอยู่ในช่วง 70 กว่า 90 ก็เคยค่ะ ตอนนั้นรวยมากเลย” ในช่วงหนึ่งค่าเงินของอังกฤษเคยอยู่ที่ระดับปอนด์ละ 70 บาท
มาถึงวันนี้เมื่อเบร็กซิตมาเคาะประตูบ้าน สุวรรณาบอกว่าทุกคนไม่มีทางเลือกเพราะว่าได้ตัดสินใจกันไปแล้ว ในเวลานี้ทุกคนจับตามองเขม็งว่าประเทศจะไปในทิศทางใด “ยังไม่มีอะไรออกมาเลยนะ ยังไม่มีหนทาง ไม่มีแนวทางที่จะเดินเลย ก็ตามสถานการณ์แต่ละวันไป”
แต่เธอเชื่อว่าเวลานี้เป็นเวลาที่ทุกคนต้องพร้อมจะปรับตัว คนกลุ่มที่จะต้องขยับก่อนน่าจะต้องเป็นคนอังกฤษโดยเฉพาะบางกลุ่มที่เลือกงาน ในขณะที่รัฐบาลอังกฤษก็คงจะต้องมองหาแนวทางอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อผ่อนคลายให้มีการนำแรงงานต่างชาติเข้าไปใช้ สุดท้ายแล้วสุวรรณาเชื่อว่า ทั้งนักการเมืองและสังคมอังกฤษจะดิ้นรนจนหาหนทางไปต่อได้เอง เพราะในอดีตที่ผ่านมาพวกเขาก็ผ่านมามากและผ่านมาได้ เธอหวังว่าผลกระทบหนักๆจะอยู่กับอังกฤษประมาณ 2-3 ปีแรกเท่านั้น แต่ว่าสำหรับตัวเธอเองอาจจะยังมีความรู้สึกลึกลงไปกว่านั้นอยู่บ้าง
“จะอยู่หรือไปเราก็กระทบอยู่แล้ว เราเป็นคนต่างชาติคนหนึ่ง”
“ก็ต้องรักษาตัวเองให้ดีที่สุดล่ะค่ะตอนนี้”