ปฏิบัติการฝึกซ้อมรบ 'วอสต็อก วอร์เกมส์ 2018' จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-17 ก.ย. โดยมีทหารรัสเซียจากหน่วยต่างๆ เข้าร่วมกว่า 300,000 นาย พร้อมด้วยอากาศยานกว่า 1,000 ลำ รถถังยานเกราะกว่า 36,000 คัน รวมถึงเรือรบเรือลาดตระเวนอีกกว่า 80 ลำ ถือเป็นปฏิบัติการฝึกซ้อมรบครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของรัสเซียในรอบ 37 ปี หลังจากที่การฝึกซ้อมรบใหญ่ครั้งสุดท้ายจัดขึ้นเมื่อปี 1981 หรือ พ.ศ.2524 สมัยที่รัสเซียยังเป็นสหภาพโซเวียต
สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า การฝึกซ้อมรบครั้งนี้มีทหารจากกองทัพจีนอีกกว่า 3,000 นายเข้าร่วมดัวย รวมถึงทหารมองโกเลีย ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญด้านความร่วมมือทางการทหารระหว่าง 2 ชาติมหาอำนาจซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ยังบ่งชี้ใ้ห้เห็นได้ว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบรัสเซีย และ นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน โดยก่อนหน้านี้ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา นายสีได้กล่าวถึงปูตินว่าเป็น 'มิตรที่ใกล้ชิด' ในขณะที่การสานต่อความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างรัสเซียกับจีนก็มีความแน่นแฟ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การลงทุน หรือการสนับสนุนประเทศที่ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ และนานาประเทศ เช่น เกาหลีเหนือ อิหร่าน ซีเรีย และล่าสุดที่มีการฝึกซ้อมรบด้านยุทธศาสตร์ร่วมกัน
สตีเฟน เนกี ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยนานาชาติคริสเตียนประจำกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เคยให้สัมภาษณ์กับเอบีซีนิวส์เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนแน่นแฟ้นขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เป็นผลจากประเทศมหาอำนาจทางฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ประกาศนโยบายหลายอย่างที่สร้างความไม่พอใจกับทั้งสองประเทศ เช่น การประกาศกำแพงภาษีกับจีน หรือการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการใช้สารพิษทำลายประสาท 'โนวิช็อก' ลอบทำร้าย 'เซอร์เก สกริปัล' อดีตสายลับรัสเซียในกรุงลอนดอนของอังกฤษ เข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
รัสเซียจับมือจีน เป็น 'ฝันร้าย' ของสหรัฐฯ
กุสตาฟ เกรสเซิล ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐสภายุโรป เปิดเผยกับดอยเชอเวลเลอ สื่อของเยอรมนี ว่า การร่วมมือกันด้านต่างๆ และการกระชับความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างรัสเซียและจีน อาจเปรียบได้กับ 'ฝันร้าย' ของสหรัฐฯ เพราะแม้ว่าทหารจีนและรัสเซียจะฝึกซ้อมรบทางบกและทางอากาศร่วมกันมาแล้วกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ 2 ฝ่ายจะร่วมฝีกซ้อมรบด้านยุทธศาสตร์และการวางแผนตั้งรับและโจมตีร่วมกันอย่างเป็นทางการ รวมถึงยกระดับความร่วมมือในการฝึกซ้อมด้านสงครามไซเบอร์อีกด้วย
การฝึกซ้อมรบครั้งนี้ ฝ่ายจีนจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำสงครามเต็มรูปแบบจากรัสเซีย ซึ่งดำเนินปฏิบัติการทางทหารที่ซีเรียและยูเครนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยทั้งสองประเทศระบุด้วยว่าจะร่วมฝึกซ้อมปฏิบัติการโจมตีทางอากาศและยิงต่อต้านขีปนาวุธด้วย ส่วนรัสเซียเองก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้เพิ่มเติมด้านอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่จีนกำลังพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ลินคอล์น บลูมฟีลด์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งสถาบันสติมสัน และอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ซึ่งเคยทำงานให้กับ 3 รัฐบาลในอดีต เปิดเผยกับซีเอ็นบีซีว่า การยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีน "ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ" โดยเป็นเรื่องที่กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานความมั่นคงของสหรัฐฯ เฝ้าจับตามานานแล้ว และเชื่อว่าจะต้องมีการสังเกตการณ์การฝึกซ้อมรบร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
เตือนสหรัฐฯ อย่าฝังหัวกับความเชื่อยุคสงครามเย็น
สื่อด้านธุรกิจอย่างดิอีโคโนมิสต์รายงานด้วยว่า การฝึกซ้อมรบครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเดียวกับที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติ Eastern Economic Forum ซึ่งนายสีิจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมและลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกับรัสเซียด้วย
ทั้งนี้ ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ผู้นำทั้งสองประเทศเห็นชอบว่าจะต้องผลักดันให้เกิดการลงนามความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนรัสเซียและจีน 73 กลุ่ม เพื่อนำไปสู่การค้าการลงทุนในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศ มูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3.3 ล้านล้านบาท รวมถึงสนับสนุนกองทุนพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บ่งชี้ว่าการคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศตะวันตกอาจจะไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสองประเทศได้อีกในอนาคต
ส่วนคริสโตเฟอร์ จอห์นสัน อดีตนักวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักข่าวกรองกลางแห่งชาติสหรัฐฯ หรือซีไอเอ กล่าวกับดิอีโคโนมิสต์ว่า ข้อควรระวังอีกอย่าง คือ สหรัฐฯ จะต้องเลิกยึดติดกับแนวคิดในสมัยสงครามเย็นที่เชื่อว่ารัสเซียและจีนจะไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันได้อย่างใกล้ชิดขนาดนั้น เพราะต่างฝ่ายต่างระแวงกันเอง
จอห์นสันมองว่าภูมิรัฐศาสตร์และขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วงกว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงนโยบายและกรอบการวางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ ทำให้รัฐบาลที่เคยไม่ไว้ใจกันกลายเป็นพันธมิตรกันได้ และการที่ทั้งสองประเทศมุ่งมั่นจะร่วมมือกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ และประเทศฝั่งตะวันตกอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: