นักดาราศาสตร์ศึกษาองค์ประกอบของวัตถุรูปทรงบุหรี่ซิการ์ที่โคจรเข้ามาในระบบสุริยะของเราเมื่อเดือนกันยายน ก่อนถูกกล้องโทรทรรศน์จับภาพได้ในเดือนตุลาคม พบว่า วัตถุซึ่งถูกตั้งชื่อตามภาษาฮาวายว่า ‘โอมูอามูอา’ นี้ เคลือบด้วยสารจำพวกคาร์บอน
โอมูอามูอา ซึ่งแปลว่า ผู้นำสาร จุดชนวนความสงสัยว่า มีความเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาหรือไม่ อย่างไรก็ดี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักวิจัยลองฟังว่ามีสัญญาณที่มาจากเทคโนโลยีจากนอกโลกหรือไม่ ปรากฏว่าไม่พบหลักฐานแต่อย่างใด
นักดาราศาสตร์ตรวจสอบวิถีโคจรพบว่า วัตถุดังกล่าวเข้าสู่ระบบสุริยะของเราจาก ‘ด้านบน’ ในมุมชันเกือบ 90 องศา พุ่งลอดระนาบของระบบของเราภายในรัศมีโคจรของดาวพุธ ดาวเคราะห์ชั้นในสุด แล้วเลี้ยวหักมุมกลับออกไปหลังจากเหวี่ยงตัวอ้อมดวงอาทิตย์
ด้วยลักษณะเส้นทางโคจรดังกล่าว นักดาราศาสตร์สรุปว่า โอมูอามูอาเดินทางมาจากนอกระบบสุริยะของเรา แหล่งกำเนิดของมันคงเป็นระบบสุริยะอื่น
นับเป็นครั้งแรกที่จับภาพวัตถุจากระบบสุริยะอื่นที่เข้ามาในระบบของเราได้ นักดาราศาสตร์มีข้อสันนิษฐานทั่วไปว่า วัตถุที่เดินทางผ่านดาวฤกษ์ต่างๆในห้วงอวกาศนั้น มักเป็นจำพวกก้อนหินที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง มีลักษณะคล้ายดาวหาง
ทว่าตอนที่ผ่านดวงอาทิตย์ โอมูอามูอาไม่ได้ทอด ‘หาง’ ซึ่งเป็นฝุ่นกับน้ำแข็ง แสดงว่ามันไม่มีน้ำแข็งบนพื้นผิว และมันอาจเป็นวัตถุจำพวกดาวเคราะห์น้อย มีเนื้อสารเป็นหินกับโลหะ ดังนั้น จึงยังสรุปไม่ได้ว่ามันเป็นดาวหางหรือดาวเคราะห์น้อยกันแน่
โอมูอามูอามีความยาวประมาณ 400 เมตร มีความกว้างแค่ประมาณ 40 เมตร มันจึงดูเรียวยาว นักดาราศาสตร์ไม่เคยเห็นวัตถุที่มีรูปทรงเช่นนี้มาก่อน เชื่อว่ามันเดินทางผ่านอวกาศมาเป็นเวลาหลายพันล้านปีแล้ว ก่อนมาถึงระบบสุริยะของเราด้วยความเร็ว 95,000 กม./ชม.
อลัน ฟิทส์ซิมมอน นักวิจัยของควีนส์ ยูนิเวอร์ซิตี เบลฟาสต์ ในอังกฤษ บอกว่า วัสดุเคลือบดังกล่าวเป็นสารประกอบคาร์บอน ก่อตัวจากเนื้อสารเดิมซึ่งมีอยู่ในระบบสุริยะต้นกำเนิดของมัน สารเคลือบนี้เป็นผลจากการทำปฏิกิริยาระหว่างพื้นผิวดั้งเดิมของตัววัตถุนี้เองกับอนุภาคมีประจุไฟฟ้าที่ชนเข้ากับพื้นผิวตลอดเวลาอันยาวนาน
คาร์บอนเป็นธาตุที่มีอยู่ทั่วไปในจักรวาล ข้อค้นพบดังกล่าวบ่งชี้ว่า โอมูอามูอามีลักษณะทำนองเดียวกับดาวหางในระบบสุริยะของเรา นั่นแปลว่า ความเข้าใจที่ว่า ระบบดาวเคราะห์มีองค์ประกอบหลักเป็นคาร์บอนนั้น นับว่าถูกต้อง
รายงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy.
Image: ESO/M. Kornmesser