ไม่พบผลการค้นหา
กรมชลประทานเดินหน้าวางแผนเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด เพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลัก ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เหลือเวลาเพียงเดือนกว่า จะหมดฤดูฝนแล้ว

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2561 มีปริมาณน้ำรวมกัน 59,000 (59,133) ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 78 เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ (35,000) 35,203 ล้าน ลบ.ม. ในส่วน 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ มีปริมาณน้ำรวมกัน 17,900 (17,968) ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 72 เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 11,200 (11,272) ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 62 ยังรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 6,900 (6,903) ล้าน ลบ.ม.

สำหรับปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางของกรมชลประทาน จำนวน 427 แห่ง (ขนาดใหญ่ 25 แห่ง ขนาดกลาง 412 แห่ง) พบว่ามีอ่างเก็บน้ำที่ปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 60 จำนวน 138 แห่ง อ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมีจำนวน 34 แห่ง 

ทั้งนี้ได้พิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม พร้อมทั้งมีการปรับแผนการระบายน้ำเพื่อเตรียมเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้งตั้งแต่เดือน พ.ย. เป็นต้นไป โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตลอดจนวางแผนปรับเปลี่ยนการปลูกพืชหน้าแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ขณะที่พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา ให้เริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่ง โดยพิจารณาตามเกณฑ์ที่เหมาะสมให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มีอยู่และปริมาณน้ำจากฝน ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่ที่ยังมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ สามารถระบายน้ำขั้นต่ำสุดได้ตามความเหมาะสมและศักยภาพของแต่ละพื้นที่รับน้ำด้านท้าย โดยจะต้องติดตามผลจากการระบายน้ำดังกล่าวอย่างใกล้ชิด