ไม่พบผลการค้นหา
เริ่มแล้วที่ประชุม สนช.ถก พ.ร.บ.เลือกตั้ง วาระ 2-3 กมธ.เสียงข้างมากดันยื้อเลือกตั้งอีก 90 วัน ขณะที่ กรธ.เปิดฉากค้านไม่จำเป็นต้องขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย

วันที่ 25 ม.ค. 61 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ เสนอในวาระที่ 2-3 โดย กมธ.เสียงข้างมากเสนอให้ขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไปอีก 90 วันหลังจากที่กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ขณะที่เนื้อหาในกฎหมายเป็นเนื้อหาใหม่ที่กำหนดวิธีการเลือกตั้ง เช่น ไพรมารีโหวต การแบ่งเขตเลือกตั้ง บัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็นต้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้เวลาพรรคการเมือง ประชาชน และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องกว่า 1.5 ล้านคนได้ศึกษาบทบัญญัติในกฎหมาย ก่อนบังคับใช้จริง เพื่อไม่ให้ทำผิดกฎหมายด้วยความไม่รู้

S__16474153.jpg

ขณะที่ กมธ.เสียงข้างน้อย คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย นายประพันธ์ นัยโกวิท เห็นว่า สนช. ได้รับหลักการในวาระที่ 1 ไปแล้ว ขณะเดียวกัน กรธ. ได้วางแผนการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้ สนช. พิจารณา ตามความจำเป็นของแต่ละฝ่ายที่ต้องดำเนินการก่อน-หลัง แล้ว เช่น การส่งร่างกฎหมายลูก กกต. และพรรคการเมือง ให้พิจารณาและประกาศใช้ก่อน เพื่อให้ กกต. และพรรคการเมืองได้มีเวลาเตรียมตัว แล้วจึงส่งร่างกฎหมายลูก ส.ส. และ ส.ว. เป็น 2 ฉบับสุดท้าย เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งได้ทันเวลาภายใน 150 วัน หลังกฎหมายทั้ง 4 ฉบับบังคับใช้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 ให้เวลา กกต. เตรียมการเลือกตั้ง 150 วันซึ่งมากกว่า รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ที่ให้เวลาเตรียมการเลือกตั้งแค่ 90 วันที่กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งบังคับใช้ ดังนั้น กรธ. จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขยายการบังคับใช้เพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง อีกทั้ง คสช. เองก็ไม่เคยขอให้ กรธ. ทำอะไรเกี่ยวกับมาตรา 2 เลย 

ด้านกรรมาธิการเสียงข้างน้อยอีก 1 กลุ่ม เสนอให้ขยายการบังคับใช้ออกไปอีก 120 วัน ได้แก่ นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน และนายธานี อ่อนละเอียด เห็นว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่ขยับเวลาการจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ เป็นวันที่ 1 มีนาคม 2561 และเลื่อนการทำกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเก่าเป็นวันที่ 1 เมษายน 2561 เท่ากับว่าเวลาถูกขยับออกไป 180 วัน หรือ 6 เดือน จึงต้องมีการขยายเวลาการบังคับใช้ เพื่อให้พรรคการเมือง

และ กกต. ได้มีเวลาเตรียมตัวตามร่างกฎหมายใหม่ และบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป เพราะหากเวลาไม่พอ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่พร้อม จะเกิดปัญหาทางการเมืองในอนาคต เช่น ความพยายามจัดการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2557

ขณะที่ นายบัณฑิต วงษา กรรมาธิการสัดส่วน กกต. เห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน ด้วยเหตุผลว่าถ้าจะขยายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย แต่ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งจะขยายออกไป 90 วัน ซึ่งความชัดเจนจะเห็นชัดในเดือนมิถุนายนนี้ และการขยาย 90 วันจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ที่ขยายเวลาให้พรรคการเมืองเตรียมการเลือกตั้งได้ถึงช่วงสิ้นเดือนกันยายนนี้ แต่เห็นว่าการขยาย 120 วันเป็นเวลาที่มากเกินไป 

ส่วนไทม์ไลน์การดำเนินการของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งซึ่งกรอบเวลาไม่ต่างจากช่วงเวลาที่พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ ทั้งนี้ กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งยืนยันถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งไม่ว่าจะขยายหรือไม่ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้หรือไม่