ไม่พบผลการค้นหา
สนช. ปัดยื้อเลือกตั้งแลกเก้าอี้ส.ว.สรรหาล่วงหน้า แค่ห่วงพรรคมีเวลาเตรียมตัวไม่ถึง 30 วัน  และในวันจันทร์ที่ 22 มกราคม จะชี้แจงรายละเอียดร่างพ.ร.บ.ส.ส.อีกครั้ง เพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ

จากกรณีนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยระบุกรณีการแก้ไขร่างพ.ร.ป.ส.ส.ให้ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นการสมคบคิดกันเพื่อต่ออำนาจให้รัฐบาลและสนช.

เมื่อวันที่ 21 มกราคม นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่การสมคบคิดเพื่อต่ออำนาจให้ใคร แต่คณะกรรมาธิการดูจากความพร้อมการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลักเพราะขณะนี้มีคำสั่งหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่53/2560 ขยับเวลาการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองเป็นเดือนมีนาคม และเดือนเมษายน รวมถึงการประชุมใหญ่พรรคการเมืองจะทำได้ต้องรอหลังจากที่ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คนมเงื่อนไขเหล่านี้

หากให้ร่างพ.ร.บ.ส.ส.มีผลบังคับใช้ทันที หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยที่กติกายังไม่เปิดให้ทำได้ ก็จะทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมได้อยู่ดี

ดังนั้นจึงทอดเวลาระยะเวลาบังคับใช้ไป 90 วัน เพื่อให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวและความพร้อมในการเลือกตั้ง เพราะถ้ากฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว ไม่มีความพร้อมทั้งในส่วนของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รัฐบาล และพรรคการเมืองจะเกิดปัญหาตามมา

 ส่วนข้อวิจารณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นคณะกรรมาธิการฯ พร้อมรับฟัง แต่หน้าที่ของเรามีแค่การกลั่นกรองกฎหมาย ส่วนคนที่จะชี้ขาดคือที่ประชุมสนช. รวมทั้งหากผ่านความเห็นชอบจากสนช.ไปแล้ว ถ้ากกต.ไม่เห็นด้วยก็มีสิทธิตั้งคณะกรรมาธิการร่วมโต้แย้งได้ ขอให้เชื่อมั่นว่า เราทำหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์ เพื่อช่วยให้สนช.ได้รับเงินเดือน

และค่าตอบแทนอื่นๆต่อไปในช่วงที่เลื่อนโรดแมปออกไป รวมถึงไม่เกี่ยวข้องกับการแลกตั๋วเป็นส.ว.สรรหาล่วงหน้า และไม่อยากให้มองเป็นประเด็นทางการเมือง คณะกรรมาธิการฯ เพียงแค่ต้องการดำเนินการในแง่มุมกฎหมายให้เกิดความรอบคอบ ทำงานตรงไปมา ไม่มีใบสั่ง ซึ่งในวันที่22 มกราคม จะแถลงชี้แจงรายละเอียดร่างพ.ร.ป.ส.ส.อีกครั้ง เพื่อตอบข้อสงสัยต่างๆ

ด้านนพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.กล่าวว่าเหตุผลที่ต้องระบุให้เป็น 90 วันในการขยายเวลาบังคับใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะกมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่า ถ้าให้เวลาน้อยกว่านี้จะทำให้พรรคการเมืองเตรียมตัวไม่ทันเรื่องการเลือกตั้ง เพราะต้องมีเรื่องการเรียกประชุมใหญ่พรรคการเมือง ระบบไพรมารีโหวตที่ใช้เวลามากพอสมควร

 แต่ขณะนี้ยังติดเงื่อนไขเรื่องคำสั่งคสช.ที่53/2560 และคำสั่งคสช.เรื่องห้ามชุมนุมเกิน5 คนอยู่ ซึ่งการ ประชุมใหญ่พรรคการเมือง ดังนั้นถ้าไม่ขยายเวลาบังคับใช้ออกไป90 วัน โดยให้มีผลบังคับใช้ทันที จะทำให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวสมัครเลือกตั้ง การคัดเลือกผู้สมัครไพรมารีโหวตไม่ถึง30 วัน ทำให้ไม่มีความพร้อมเลือกตั้ง

ด้านนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กล่าวว่า ขณะนี้พรรคการเมืองต่างออกมาระบุว่า การที่คณะกรรมาธิการฯ ยืดเวลาเลือกตั้งไป90 วันนั้น เป็นเพราะได้รับคำสั่งมาจากผู้มีอำนาจ ขอเรียนว่านักการเมืองเขามีสิทธิ์ที่จะคิดเช่นนั้น

และคณะกรรมาธิการฯ ก็ไม่สามารถไปห้ามความคิดของพรรคการเมืองได้ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการฯทำหน้าที่พิจารณากฎหมายเราจะรู้ทและทราบข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุดว่าการกำหนดวันเวลา หรือ การเขียนกฎหมายดังกล่าว มีความจำเป็น หรือ เหตุผลอะไร จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่ได้คัดค้านแต่อย่างใด แต่อาจจะมีข้อห่วงกังวลอยู่บ้างเกี่ยวกับเรื่องของข้อกฎหมายที่อาจจะไปขัด หรือลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น

“เหตุผลบางอย่างที่มีความจำเป็นก็ไม่สามารถพูดออกไปได้ทั้งหมด แต่อยากให้ทราบว่าที่บอกว่า การกำหนด 90 วันนั้นเพราะ สนช.คิดจะยืดอายุการทำงานของตัวเองไปอีก 2-3เดือน ผมอยากบอกตามตรงว่าการทำงานสนช. แค่ยืดเวลาไปซัก 2-3 เดือน ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรต่อพวกเราเลยดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำเพื่อยืดเวลาตัวเอง” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

นายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่าทำให้คำประกาศของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ต่อนานาชาติว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561 โดยไม่มีการเลื่อนการเลือกตั้งอย่างแน่นอนกลายเป็นการกล่าวคำเท็จต่อประชาคมโลก นานาชาติจะไม่ให้การเชื่อถือประชาธิปไตยแบบไทยไทยอีกต่อไป การออกกฎหมายลูกที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมายหรือไม่