ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย ปี 2562 คาดว่า ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยน่าจะมีจำนวนประมาณ 10.80-10.99 ล้านคน เติบโตประมาณร้อยละ 2.5-4.3 จากปี 2561 (สาเหตุของอัตราการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานของนักท่องเที่ยวจีนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น) สำหรับการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 5.98-6.09 แสนล้านบาท ขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0-5.0 จากปี 2561
ขณะที่ จากรายงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่า ในปี 2561 เป็นปีที่มีนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยสูงถึง 10.54 ล้านคนเป็นครั้งแรก เติบโตร้อยละ 7.4 จากปีก่อน และรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมีมูลค่า 580,699 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11.5 จากปีก่อน อย่างไรก็ตาม คาดว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด แต่การเติบโตที่ต่อเนื่อง คงจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562
หลังจากช่วงท้ายปี 2561 มีการเร่งทำตลาดเพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นของตลาดนักท่องเที่ยวจีนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบกับการออกมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียม Visa On Arrivals ครอบคลุม 21 ประเทศรวมถึงประเทศจีน (เริ่มธันวาคม 2561 และขยายเวลาถึงสิ้นเดือนเมษายน 2562) เป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดนักท่องเที่ยวจีนทยอยฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้สถานการณ์ตลาดนักท่องเที่ยวจีนในไทยเดือน ธ.ค. 2561 พลิกกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย
คาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยช่วงตรุษจีน 325,000 คน ใกล้เคียงปีก่อน
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2562 นี้ จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทย เป็นจำนวนประมาณ 325,000 คน ใกล้เคียงกับในปีก่อน ซึ่งนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อทิศทางตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในปี 2562 นี้ (ผลสำรวจของ Ctrip พบว่า นักท่องเที่ยวจีนยังเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ของการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้)
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองภาพตลาดในช่วงข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย โดยประเมินว่า การขยายตัวเป็นบวกที่ต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยคงจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ขณะที่ ในช่วงครึ่งปีแรก ภาพการเติบโตจะเผชิญความท้าทายจากผลของฐานเปรียบเทียบในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยมีจำนวนเฉลี่ยเกือบ 1 ล้านคนต่อเดือน
กำลังซื้อคนจีน ปัจจัยกดดันรายได้ท่องเที่ยวไทย
นอกจากนี้ แม้ว่าบรรยากาศโดยรวมและความเชื่อมั่นของตลาดจะทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับจากความร่วมมือของทุกฝ่าย อีกทั้งไทยยังนับว่าเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวจีนเลือกในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยังมีปัจจัยท้าทายอีกหลายประการที่อาจกระทบต่อแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยในระยะถัดไป
ที่สำคัญคือ ประเด็นกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะกลุ่มที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ สถานการณ์การแข่งขันกันดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนไปยังประเทศต่างๆ และความหลากหลายของพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนในยุคดิจิทัล อาทิ
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจของจีน อาจสร้างความกดดันต่อการทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจเป็นที่สังเกตว่า การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนไปต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณอ่อนแรงลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ซึ่งสะท้อนไปในทิศทางเดียวกับเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจจีนปี 2562 ยังมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่รัฐบาลท้องถิ่นจีน 12 จังหวัดจาก 31 จังหวัด ได้มีการปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2562 ท่ามกลางหลากหลายปัจจัยลบ ไม่ว่าจะเป็น ผลจากประเด็นข้อพิพาทการค้ากับสหรัฐฯ ปัญหาในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปัญหาหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อสถานการณ์ความมั่งคั่งหรือกำลังซื้อของชาวจีน
ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ด้วยการใช้จ่ายระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวที่ลดลง และเป็นความท้าทายสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว
ความท้าทายจากการแข่งขันระหว่างประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน เมื่อหลายประเทศต่างให้ความสำคัญในการทำตลาดเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ทั้งการออกมาตรการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและการเดินทาง การออกแผนการตลาดร่วมกับพันธมิตร OTAs ของจีน เป็นต้น มีผลทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีการกระจายการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศต่างๆ มากขึ้น โดยในบางประเทศ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ กัมพูชา หรือประเทศในภูมิภาคอื่นอย่างตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฯลฯ แม้โดยรวมจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวประเทศเหล่านั้นยังไม่สูงนัก แต่อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนเร่งตัวขึ้น อาทิ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวที่ประเทศตุรกีมีจำนวนประมาณ 400,000 คนในปี 2561 เติบโตประมาณ 74% จากปีก่อนหน้า
สำหรับในแถบเอเชียตะวันออก (ไม่รวมฮ่องกงและมาเก๊า) นั้น นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยยังครองสัดส่วนมากที่สุดราว 37% จากนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวใน 4 ประเทศ แต่นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวญี่ปุ่นและเวียดนามก็เร่งขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวเกาหลีใต้ก็เริ่มฟื้นตัวเช่นกัน สะท้อนถึงสถานการณ์การแข่งขันในตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เข้มข้น ตลอดจนแสดงให้เห็นว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ต่างๆ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวได้ไม่ยาก ปัจจัยนี้ สร้างความท้าทายในการทำตลาดของธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของไทยให้จำเป็นต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพการให้บริการให้ดีอยู่เสมอ
พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีนมีความหลากหลาย และให้น้ำหนักกับประเด็นด้านคุณภาพและประสบการณ์การท่องเที่ยวมากขึ้น เป็นโจทย์สำหรับการนำเสนอผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ปัจจุบัน การทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งนอกเหนือจากปัจจัยด้านการแข่งขันแล้ว ปัจจัยสำคัญ คือ นักท่องเที่ยวจีนมีความหลายหลายมากขึ้น ทั้งพฤติกรรมความชอบ ความแตกต่างระหว่างกลุ่มช่วงอายุ (Generation) และสถานะทางสังคมของนักท่องเที่ยวจีน อีกทั้งด้วยเทคโนโลยียุคดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้การตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางใหม่ๆ ที่หลากหลายทำได้ง่ายและไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการวางแผนมากนัก
ขณะที่ เทรนด์นักท่องเที่ยวจีนแสวงหาการท่องเที่ยวในรูปแบบที่เป็นอิสระมากขึ้น มีการใช้เทคโนโลยีผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟนในการจัดการการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการสัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ (Chinese Tourist 2.0) โดยนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มคนรุ่นใหม่ยอมจ่ายเงินเพื่อคุณภาพของการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมอย่างภูมิอากาศ เหตุการณ์ภัยพิบัติ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ก็เข้ามามีอิทธิพลต่อการเลือกเดินทางท่องเที่ยวเช่นกัน ส่งผลให้การทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนมีความซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์ราคาแพคเกจท่องเที่ยวผ่านทางเว็บไซต์ OTAs ของจีน พบว่า ราคาแพคเกจทัวร์ 7 วัน จากเมืองปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้มาไทยเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 1,890 หยวน ซึ่งสูงกว่าประเทศเวียดนามเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบแพคเกจทัวร์ประเทศญี่ปุ่น พบว่า ราคาเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ที่ประมาณ 3,900 หยวน สูงกว่าราคาเฉลี่ยของไทยกว่าเท่าตัว ขณะที่สัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนขึ้นต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่า ราคาไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจีนเพียงปัจจัยเดียว แต่นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มให้ความสำคัญมากขึ้นต่อประเด็นผลิตภัณฑ์และคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งการบริการต่างๆ ซึ่งสามารถตอบสนองการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ดีได้อย่างครบครัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :