นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ระบุในงาน “แสงสว่างการเมืองไทย ทางเลือกประชาชน ยุคเปลี่ยนผ่านเผด็จการสู่ประชาธิปไตย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิพฤษภาประชาธรรมและคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 โดยชี้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องการเป็นนายกฯ อีกหลังจากนี้อาจต้องกลายเป็นคนที่น่าสงสารที่สุด เพราะหลังจัดตั้งรัฐบาลจะถูกถอดเขี้ยวเล็บต่างๆ โดยเฉพาะ อำนาจ มาตรา 44 ที่จะหมดไป และต้องกลายเป็นบุคคลธรรมดาที่ถูกเอาไปปล่อยให้อยู่ท่ามกลางเสือสิงห์กระทิงแรดภายในพรรคที่สนับสนุนและพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเรื่องลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่ได้ก่อตั้งพรรคสหประชาไทยเพื่อลงเลือกตั้ง ซึ่งสุดท้ายจอมพลถนอม แม้จะเป็นคนใจเย็นก็ไม่สามารถอดทนต่อพฤติกรรมของ ส.ส.ในพรรคของตัวเองได้จนตัดสินใจรัฐประหารตัวเองในท้ายที่สุด
เชื่อว่า หลังจากนี้ 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ จะเหนื่อยอย่างมาก แต่หากอยู่ถึง 6 เดือน อาจถึงกับหมดสภาพ เพราะจะถูกอภิปรายในสภาฯ โดยเฉพาะเรื่องต่างๆ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และสิ่งที่เรียกว่า ขาลง จะมาอย่างรวดเร็ว แต่จะถือว่าเป็นโอกาสของคนไทยและประเทศไทย เพราะจะได้รู้ว่า ช่วง 5ปีที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายต่างๆ ไม่สามารถพูดอะไรได้อย่างเต็มที่นั้นมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนั้นจึงภาวนาให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้นานมากกว่า 47 วัน ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกฯ ในปี 2535 เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีเวลารู้จักตัวเอง
ด้าน ศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้มีมาตรฐานคะแนน ของคนที่จะได้เป็น ส.ส. แต่คนที่เอาไปคิดคำนวณกลับไม่คำนึงถึงสิ่งนี้ จนทำให้เกิด ส.ส.ที่มีมาหลากหลายมาตรฐานคะแนน และไปรอนสิทธิพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมาตรฐาน จนทำให้เกิดปัญหาความชอบธรรมของ ส.ส. และเกิดคำถามต่างๆ ตามมาอีกมากมาย จนกลายเป็นภาวะรัฐสภาเปราะปราง ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัญหาเรื่องการสรรหา ส.ว.เข้ามาเป็นอีกปัจจัยสำคัญ จนเกิดคำถามในสังคมว่า ส.ว.ควรมีต่อไปอีกหรือไม่ในสังคมไทย และปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวทำให้รัฐบาลมีความเปราะบางอย่างยิ่ง
ขณะที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ในวันที่ 10 พ.ค. จะยื่นเรื่องร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้พิจารณาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประกาศรับรองผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ของ กกต. ซึ่งจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ส.ส.พึงมี ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กำหนด นอกจากนี้ยังจะยื่นข้อมูลเพิ่มเติมให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติ ส.ส.ที่เข้าข่ายถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนเพิ่มเติมอีกจำนวนหนึ่ง